ชวน บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ย้อนอดีต ความทรงจำและความรักก่อนจะมาเป็น One for the Road โรดทริปครั้งใหม่ที่สะท้อนมุมมองและหมุดไมล์ของชีวิต

ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 4 ปีทีเดียวกว่า “One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ” ผลงานการกำกับชิ้นล่าสุดของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่โปรดิวซ์โดยหว่องกาไว ผู้กำกับระดับตำนานที่มีลายเซ็นในการทำหนังอย่างชัดเจนจะเสร็จสิ้นทุกกระบวนการและมีโปรแกรมเข้าฉายในเมืองไทย หลังจากที่ได้ไปฉายในเทศกาล Sundance Film Festival 2021 และคว้ารางวัล  World Dramatic Special Jury Award มาแล้ว การออกเดินทางครั้งนี้มีความท้าทายกับบาสหลายอย่าง ทั้งเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างเขากับหว่องกาไว การรื้อบทที่ใช้เวลาประมาณ 1 ปีเพื่อตามหาเรื่องพลอตเรื่องใหม่ที่เขาทั้งคู่รู้สึกเชื่อ การตอบคำถาม Who are you? ของหว่องกาไว ด้วยการสร้างบทหนังครั้งใหม่ที่เหมือนเป็นการเปลือยชีวิตที่ตกตะกอนของบาสออกมาบนแผ่นฟิล์ม ไม่นับรวมโควิด-19 ที่ทำให้การรอคอยครั้งนี้ดูท้าทายมากยิ่งขึ้น ฯลฯ

ที่เล่ามาเป็นเพียงแค่เส้นทางเพียงไม่กี่กิโลเมตร ถ้าเทียบกับระยะทางการเดินทางในการทำหนังเรื่องนี้ และโรดทริปในชีวิตของบาส เรียกว่ากว่าจะได้มาเป็นผู้กำกับคนที่เราต่างรู้จัก เขาต้องพิสูจน์ความเชื่อและความมุ่งมั่นของตัวเองแบบที่เรียกว่าลองผิด ลองถูก จนเจอสมดุลของตัวเอง ซึ่งกินระยะเวลาหลายสิบปี แต่นั่นก็ทำให้การขับรถบนถนนชีวิตของบาสปลอดภัยมากขึ้น เพราะเขาได้เรียนรู้รสชาติของความสมหวังและความผิดหวังจนรู้แล้วว่าชื่อเสียง เงินทอง มีความสำคัญแค่ไหน และอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่เขาต้องการในชีวิตนี้

เมื่อหว่องกาไว อยากทำหนังกับคุณ ใครจะไม่เซย์เยส

“เรื่องทั้งหมดเริ่มจากคุณหว่องกาไวติดต่อมาประมาณต้นปี 2018 ครับว่าได้ดูหนังเรื่องฉลาดเกมส์โกงแล้ว อยากร่วมงานด้วย ใครจะไม่เซย์เยสกับโอกาสนี้” ผมเป็นเด็กยุค 90 ที่โตมาในยุคที่เขากำลังเฟื่องฟู คุณหว่องกาไวเป็นผู้กำกับเอเชียระดับโลกคนแรกๆ ที่ผมศึกษา ดูงาน อิทธิพลการทำงานหนังสไตล์เขาในยุคนั้นค่อนข้างที่จะเข้มข้นมากเลยครับ เลยตัดสินใจได้ไม่ยากเลยเมื่อเขาหยิบยื่นโอกาสนี้ให้กับผม พอตกลงทำงานด้วยกันส่วนมากผมจะบินไปหาเขาที่ฮ่องกง บางโมเมนต์ก็บินไปเจอเขาที่ออฟฟิศที่จีน แล้วแต่ว่าช่วงนั้นเขาทำงานอยู่ที่ไหน ส่วนในเรื่องการทำงานร่วมกัน ผมมองว่าในเชิงสตอรี่และธีมมันเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างผมกับเขานะครับ หมายถึงเมสเสจนี้ ความเชื่อนี้ เป็นเรื่องที่ผมเชื่อและอยากจะเล่าจริงๆ และทั้งหมดที่เราพยายามทำกันมาคือ เขาพยายามจะค้นหาว่าผมคือใครในฐานะมนุษย์ แล้วมันส่งผลต่อการเป็นคนทำหนังยังไง เขาเคารพในตัวตนของผมอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันผมก็ใช้โอกาสในการที่จะสื่ออะไรบางอย่างที่มีรสชาติหรือว่าสไตล์จากความเป็นตัวเขาผ่านองค์ประกอบอื่นๆ ในหนังเรื่องนี้ เช่น การถ่ายภาพ อาร์ตไดเร็กชั่น ไลท์ติ้ง เพราะไม่รู้เลยว่าจะได้รับโอกาสแบบนี้อีกไหม 

การทำงานกับคุณหว่องกาไว ได้ทำให้ผมเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น ทำให้เราหยุดและพิจารณาตัวเองผ่านงานที่ตัวเองทำมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยทำมาก่อน หรือเชื่อสัญชาตญาณตัวเองมากขึ้น เช่น ทั้งๆ ที่รู้ว่าหลายอย่างมีชอยส์ที่ทำให้มันง่ายขึ้น มีชอยส์ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกปากคนทั่วไปมากขึ้น แต่ผมเลือกที่จะทำในสิ่งที่เราเชื่อมากกว่า ซึ่งผมไม่รู้หรอกครับว่าคนดูจะชอบหรือเปล่าเพราะหนังยังไม่ฉายในประเทศไทย แต่ไม่ว่าจะยังไง สุดท้ายงานชิ้นนี้ก็จะเป็นงานที่ผมภูมิใจ เพราะเป็นงานที่ผมค่อนข้างจะซื่อตรงกับตัวเอง นอกจากนี้เขายังเป็นเหมือนอาจารย์ที่ชอบตั้งคำถาม หรือตั้งสมมติฐาน เช่น  Who are you? What do you want to do? Like this ,Like That, What do you think? ฯลฯ แต่การหาคำตอบคือตัวเราเองในการทำสิ่งนั้นๆ ที่ผ่านมาเขาไม่เคยบอกผมว่า คุณต้องทำอะไร ทุกครั้งจะเป็นแค่คำแนะนำ การตั้งคำถาม เขาจิตวิทยาสูงครับ (เคยถามเขาไหมว่าเพราะอะไรถึงอยากทำงานกับบาส) ไม่เคยครับ (หัวเราะ) ไม่กล้าถาม กลัวถามไปแล้ว เขาจะไม่ทำงานด้วย 

WHO AM I ?

จริงๆ ผมไม่มีความตั้งใจจะทำหนังพลอตนี้เลย คือพลอตแรกที่ผมคิดขึ้นมาโดยใช้เวลาประมาณเกือบปีนั้นไม่ใช่เรื่องนี้ แต่ที่ต้องพับโครงการไป เพราะเราทั้งคู่รู้สึกไม่เชื่อ ต่อมาเราเลยใช้เวลาด้วยกัน กินไวน์ นั่งคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต จนวันหนึ่งเขาก็หันมาถามผมว่า Who are you? แล้วก็ตามมาด้วยอีกคำถามว่า ถ้าวันหนึ่งคุณเหลือเวลาอีกไม่นานในโลกใบนี้ อยากทำอะไรกับชีวิต? 

พอผมถามตัวเองก็ได้คำตอบว่าผมอยากกลับไปร่ำลาทุกคนที่เคยมีความหมายกับชีวิตผม แล้วก็ถูกสโคปลงมาว่าเป็นเรื่องของแฟนเก่า ผมเชื่อว่าเกือบทุกคนน่าจะเชื่อมโยงประสบการณ์ของการมีแฟนแล้วต้องเลิกราไปได้ เลยทำหนังรักที่ว่าด้วยรักที่ผ่านพ้นไปแล้วว่าเราจะกลับไปรีวิวมันยังไง ณ ปัจจุบันนี้

โดยเป็นการเล่าเรื่องของคนๆ หนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งบักเก็ตลิสต์สุดท้ายที่เขาอยากทำคือกลับไปเจอกับแฟนเก่าทุกคนในชีวิตเพื่อที่จะพบปะ พูดคุย แก้ปมในชีวิตอีกครั้งก่อนที่เขาจะไป โดยมีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่คอยซัพพอร์ต ซึ่งถ้าพูดถึงคาแรกเตอร์แฟนเก่าในเรื่อง ทุกคนมีตัวตนจริงหมด ผมได้ไปขออนุญาต ไปสัมภาษณ์ แล้วรวมแฟนเก่า 3 คนเข้าไปไว้ในคาแรกเตอร์เดียวกัน หรือเรื่องราวของตัวผมเองตอนที่ไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์กก็ถูกถ่ายทอดมาในเรื่องนี้ นอกจากนี้คาแรกเตอร์ของตัวละครนำ รวมถึงแบ็กกราวนด์คาแรกเตอร์ของตัวละครเหล่านี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของผมเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าผมหล่อเหมือนต่อ (ธนภพ ลีรัตนขจร) นะครับ (หัวเราะ)

Based on a True Story ก็เหมือนกับการแก้ผ้าในกองถ่าย

หนังเรื่องนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผมทำจากเรื่องราวส่วนตัวเยอะที่สุด เหมือนเดินแก้ผ้าในกองถ่าย อย่างเวลาตัวละครด่ากัน ผมรู้สึกว่าประโยคที่ผมเขียนขึ้นมาก็เหมือนด่าตัวเอง หรือแม้กระทั่งตอนหนังฉายไปแล้ว และมีนักวิจารณ์เขาวิจารณ์ตัวละคร ก็รู้สึกว่าเหมือนเราถูกวิจารณ์ ช่วงแรกๆ ก็เจ็บปวดเหมือนกันครับ แต่ถ้าก้าวผ่านไปได้ก็เหมือนเป็นการรีวิวชีวิตที่ดีเหมือนกัน หรืออย่างเรื่องเพื่อนที่ป่วยเป็นมะเร็งนี่ตอนแรกไม่ได้มีตัวตนจริงๆ แต่ในวันที่เขียนบทเสร็จประมาณอาทิตย์หนึ่ง ผมก็ได้ข่าวว่ามีเพื่อนสนิทของผมที่นิวยอร์กคนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง และเพิ่งพ้นโคม่ามา ซึ่งเขาปิดบังไม่ให้เพื่อนรู้ แต่พอเรารู้แล้วก็ได้ไปพบปะ พูดคุย แชร์โปรเจ็กต์หนังเรื่องนี้ให้ฟัง หลังจากนั้นเขาเลยกลายมาเป็น Muse ของตัวละคร ซึ่งพอมานั่งอ่านหลายๆ บทที่ผมเขียนไป กลายเป็นว่ามีหลายๆ ซีนที่ผมเขียนมาจากความทรงจำที่ผมมีกับเขาโดยที่ผมไม่รู้ตัว เช่น ช่วงเวลาที่ผมอยู่กับเขา นั่งดื่มเหล้าด้วยกันที่นิวยอร์ก ทำงานร้านอาหารเดียวกัน ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นบันทึกที่ผมมีต่อตัวเขาในระดับหนึ่ง เพราะในวันนี้เพื่อนผมคนนั้นไม่ได้อยู่ดูหนังเรื่องนี้แล้วครับ 

โควิด-19 และการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมผ่านเรื่องราวต่างๆ มาได้เพราะว่าผมมีทีมที่ดี ในที่นี้หมายถึงทีมงานบริษัทผม ทีมงานทั้งหลายแหล่ที่พร้อมจะลุยกับเราไม่ว่าจะถ่ายยาก ลำบาก กินเวลาขนาดไหนก็ตาม ลากมาสู่ในช่วงที่พอเกิดโควิด-19 ขึ้น หนังถูกสโลว์ดาวน์ คือหนังเสร็จแล้วนะ แต่ว่ายังไม่สามารถฉายมันได้ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ตอนแรกผมก็นอยด์นะครับ เพราะเมื่อไหร่ที่หนังยังไม่ฉาย หมายถึงงานเรายังไม่เรียบร้อย ไม่สามารถไปต่อในโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ได้ เพราะใจยังอยู่กับสิ่งนี้ แต่ในขณะเดียวกันพอมีเวลาเยอะขึ้นก็มีเวลารีวิวงานตัวเอง ผมเลยใช้เวลาช่วงนี้ทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ไม่รู้ว่านี่เป็นการสับขาหลอกให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นหรือเปล่านะ แต่ในเชิงของข้อเท็จจริงมันก็จริง เพราะพอมีเวลาเยอะขึ้นก็ทำให้ผมมีเวลาประณีตกับงานเชิงโพสต์โปรดักชั่นได้มากขึ้น

ทิ้งความกดดันแล้วหันหน้าสู่ความสุข

หลังจากฉลาดเกมส์โกงเข้าฉาย กลายเป็นว่ามีคนคาดหวังงานผมเยอะขึ้น ซึ่งก็กดดันตัวเองเหมือนกันนะครับว่าจะทำยังไงไม่ให้คนดูผิดหวังกับงานชิ้นต่อไปของเรา แต่พอมาถึงจุดหนึ่งผมก็ปล่อยวางความรู้สึกนั้น เพราะรู้สึกว่าเริ่มผิดทาง หมายถึงการทำงานเพื่อรักษาความคาดหวังของคนอื่นเริ่มไม่ใช่ไดเร็กชั่นที่ถูกต้องในการทำสิ่งนี้สักเท่าไหร่ สุดท้ายก็กลับไปที่เรื่องง่ายๆ คือ ต่อให้เหนื่อย ยาก ท้าทาย แค่ไหน เราต้องมีความสุขกับสิ่งที่ทำ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่มีความสุข อย่าทำ ซึ่งความสุขเหล่านี้เกิดมาจากการที่ได้มีโอกาสเล่าเรื่องจากการที่เราเชื่อ ชอบ แต่ถ้าระหว่างทางการเล่าเรื่องเหล่านั้นจะเหนื่อยยากด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ถือเป็นเรื่องปกติครับ

กว่าจะได้รู้จัก บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ในฐานะผู้กำกับ

ผมอยากเป็นผู้กำกับหนังตั้งแต่ผมอยู่ ป.4 จำได้ว่าชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก เพราะว่าที่บ้านอี้ผมเป็นร้านเช่าวิดีโอ เราก็โตมากับการดูหนัง แล้วก็บอกพ่อแม่และทุกคนว่าอยากเป็นผู้กำกับ จังหวะนั้นทุกคนก็คงฟังหู ไว้หูแหละ (หัวเราะ)

ตัวผมเริ่มต้นมาจากหนังฮ่องกงและค่อยมาดูหนังฝรั่ง จากนั้นผมเริ่มอ่านบทวิจารณ์ เริ่มดูหนังมากกว่าความบันเทิง ศึกษาว่าแต่ละหน้าที่ทำอะไร ผู้กำกับคือใคร คนเขียนบททำอะไร พอเข้าเรียนมัธยม แพสชั่นนี้ก็กลายเป็นเส้นทางที่วางไว้ในอนาคตว่าเราอยากจะเป็นอะไร แต่ระหว่างทางก็เกิดความผิดหวังมาเรื่อยๆ นะครับ เช่น ตอนจะเข้ามหาวิทยาลัย ไม่มีใครมาแนะแนวหรือมาแนะนำ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเรารู้แล้วว่าอยากเป็นอะไร จนได้มาเจอคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว.ประสานมิตร เอกการแสดงและกำกับการแสดง เปิดรับสมัคร ผมก็สอบเข้าคณะนี้เลย พอสอบติดเข้าไปเรียนได้ประมาณเกือบเทอมถึงได้รู้ว่า นี่คือละครเวที ไม่ใช่หนัง แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ก็รู้ว่าหนังมีที่มาจากละครเวที และละครเวทีสอนให้เราใส่ใจกับการแสดง บทและไดอะล็อก ผมเลยเรียนจนจบ

ระหว่างนั้นก็ไปขอฝึกงานโฆษณา โปรดักชั่นเฮาส์ เพราะอยากรู้เรื่องหลังกล้องให้เยอะขึ้น ไปทำงานผู้ช่วยผู้กำกับโดยที่ไม่มีความรู้เรื่องกล้อง ไม่มีความรู้เรื่องอะไรเลย โดนเขาต่อว่าเพราะโฟร์กราวนด์ แบ็กกราวนด์ ยังไม่รู้เลยว่าเป็นยังไง จนถึงวันหนึ่งก็ตัดสินใจไปนิวยอร์กเพื่อไปเรียนต่อภาพยนตร์ที่วาดฝันไว้ แล้วก็พบกับความผิดหวังครั้งใหญ่เพราะว่าใช้เงินเยอะมาก แล้วเราไม่มีตังค์ก็เลยไม่ได้เรียน ตอนนั้นผมได้ไปอ่านบทสัมภาษณ์ของ ชอว์น เลวี ที่เป็นโปรดิวเซอร์ซีรีส์ Stranger Things เขาบอกว่าถ้ามีเงิน แทนที่จะไปเข้าโรงเรียนทำหนัง ก็เอาเงินนั้นไปทำหนังเลยดีกว่า คุณจะได้เรียนรู้อะไรเยอะกว่า ผมเลยบอกตัวเองว่าก็ได้วะ แล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการเรียนรู้ชีวิต ซึ่งได้สอนเราในเชิงไลฟ์สไตล์ รสนิยม ผมได้ดูหนังเยอะมาก ได้เจอแก๊งเพื่อนที่เราแชร์สิ่งนี้ด้วยกันได้ รวมหัวกันทำหนังสั้น ทำกิจกรรม อีเวนต์ต่างๆ แล้ววันหนึ่งหนังสั้นก็ไปเข้าตาพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) กับพี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) จนได้กลับมาทำหนังเรื่องเคาท์ดาวน์ที่เมืองไทยครับ

จังหวะชีวิตที่สมดุล

ถึงผมจะมีความฝันว่าอยากเป็นผู้กำกับมาตลอด แต่เอาเข้าจริง ผมมาถึงจุดนี้ช้านะครับ ถ้าเทียบกับผู้กำกับคนอื่นๆ หรืออย่างคนที่ผมรู้จักอย่างพี่โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล), มะเดี่ยว (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) เขาก็ทำหนังกันตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ อายุ 30 เขามีหนัง 2-3 เรื่องแล้ว แต่ตอนผมอายุ 30 ผมยังขัดส้วมอยู่ที่นิวยอร์กอยู่เลยครับ ตอนนั้นผมก็ตั้งคำถามตัวเองนะว่าเราทำอะไรอยู่ หรือได้แค่นี้ มันอยู่ในจุดที่เริ่มทำใจกับตัวเองได้แล้วเหมือนกันนะว่า โอเคล่ะมั้ง ถ้าวันหนึ่งไม่ได้ทำหนัง หรือเป็นผู้กำกับหนัง ก็แค่กัดฟันเรียนให้จบ เก็บเงินสักก้อนเพื่อกลับไปทำโฆษณา อะไรก็ว่าไปเท่าที่โอกาสยังเอื้อให้ทำในสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ

ที่ผ่านมาผมเคยพยายามผลักดัน กดดันตัวเองเพื่อไปสู่จุดนั้น ซึ่งพบว่าการกดดันตัวเองไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับใครขนาดนั้น แล้วผมก็พบว่าความกดดันกับความมุ่งมั่นไม่เหมือนกัน ความมุ่งมั่นคือการที่เรารู้ว่าจะไปยังไง เหมือนกับวิ่งมาราธอนด้วยสปีดที่ไม่ทำให้เหนื่อยจนเกินไป แต่การกดดันมันคือการโกยตีนหมาที่ต้องทำเวลาให้ได้มาตรฐานที่กำหนดตลอด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เราใช้ชีวิตไม่ได้ หายใจลำบาก และทำให้คนอื่นที่ต้องวิ่งตามเราลำบากไปด้วย ซึ่งผมเคยมีความคิดแบบหลังนี่ในช่วงอายุ 20 กว่าๆ แต่พอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่าต้องสโลว์ดาวน์แล้วล่ะ กลับมาใช้ชีวิตที่เราตามหาความฝันได้ด้วยจังหวะหายใจที่ไม่อึดอัดจนเกินไป

กลายเป็นว่าพอเราสโลว์ดาวน์ เรากลับครีเอทีฟขึ้น จัดสรรเวลาได้ ไม่ลำบาก พอเราแฮปปี้ ก็มีพลังงานที่ดีกับงานที่ทำ เป็นอะไรที่ซัพพอร์ตกันไปหมด เช้าไปทำงานร้านอาหาร เย็นก็เขียนบท พอเขียนบทเสร็จก็ถ่ายหนังสั้น สะพายกล้อง ขาตั้งกล้องเข้าร้านอาหาร ซึ่งเป็นอะไรที่เหนื่อยมาก แต่เราไม่รู้สึกอะไร  เพราะทำแล้วเรารู้สึกมีความสุข แล้วพอโอกาสมันเข้ามา พี่เก้ง พี่วรรณชวนกลับมาทำหนัง เลยรู้สึกว่าบางทีจังหวะสโลว์ดาวน์ก็ดีเหมือนกันนะ

คำว่า ประสบความสำเร็จ” อาจทำร้ายเราได้ในฐานะมนุษย์

ถึงแม้จะมีคนมองว่าผมประสบความสำเร็จ แต่วันนี้ผมเองยังไม่เคยคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จนะครับ คำนี้อันตรายมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเชื่อว่าเราอยู่ในโซนนิ่งของคำนั้น แล้วยึดถือ ชีวิตพังได้เลยนะครับ เราต้องมีสติว่าการประสบความสำเร็จนี้ไม่จีรังเลย และไม่จริงด้วยซ้ำ มันแค่จริงในช่วงเวลาหนึ่ง กับคนกลุ่มหนึ่ง พอเวลาผ่านไป คำๆ นี้อาจไม่จริงกับคนกลุ่มนั้นแล้วก็ได้ อีกอย่างคำนี้อาจทำร้ายเราในเชิงความสัมพันธ์ส่วนตัวด้วย เพราะบางครั้งพอเราอยู่ในจุดที่ถูกอวย ถูกสรรเสริญอย่างไร้สติ แล้วรู้ไม่เท่าทัน คำว่าประสบความสำเร็จอาจทำเราพังในฐานะมนุษย์ได้นะครับ

นายแบบ: นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

สัมภาษณ์: กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

ช่างภาพ: อิทธิพล พนาสุภน, กาซาลอง คำจริง

สถานที่: Fics

ติดตามเรื่องราวของ “Someonestoryco” เพิ่มเติมได้ที่

Web : http://someonestory.co

Facebook : https://www.facebook.com/SomeoneStory.co/

Instagram : https://www.instagram.com/someonestory.co/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCnm6Li8Brk1QCyb9lBHrMEA

Twitter : https://twitter.com/someonestoryco

About the author

+ posts
0%