บางทีเราอาจรู้ใจตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่อยากทำและอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิตจากการเปรียบเทียบสิ่งที่กำลังทำกับอะไรบางอย่าง เช่นเดียวกับ ‘โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา’ หรือที่บรรดาวัยรุ่นยุค 90 รู้จักเขาในนาม‘โป้ โยคีเพลย์บอย’ ที่ได้รู้ใจตัวเองว่าเขาอยากจะทำงานด้านดนตรีไปตลอดชีวิตหลังจากที่ไปใช้ชีวิตเป็นสถาปนิกฝึกหัดมาพักหนึ่ง การตกผลึกกับตัวเองครั้งนี้ทำให้เขากลับมาทำเพลงด้วยพลังบวกและมั่นใจสุดๆ พร้อมที่จะสร้างผลงานส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังๆ ได้มีอีกตัวอย่างในการสร้างผลงานเพลงชิ้นใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต ล่าสุดเขาได้ปล่อยเพลง ‘หมอล้ำ’ และ ‘บางที…maybe’ จากวง TANQUE’AMA (ตังเกอาม่า) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ ‘สุทัศน์ เพชรมี’ มือเบสโยคีเพลย์บอย ออกมาให้ฟังกัน (บอกเลยว่าเขายังสนุกและมีอะไรให้ฟังเหมือนเดิม) นอกจากนี้เรายังได้พูดคุยกับนักร้องขวัญใจของใครหลายคนอีกหลายเรื่อง ทั้งการทำเพลง, มุมมองการใช้ชีวิต รวมถึงบทบาทของหัวหน้าครอบครัวที่มั่นใจมากว่าถ้าเหล่าภรรยาทั้งหลายได้แวะมาอ่านหัวข้อนี้ที่อยู่ตอนท้ายๆ ต้องได้มีอมยิ้มกันบ้างแน่ๆ
TANQUE’AMA (ตังเกอาม่า) ส่วนผสมของ 2 คน 2 สไตล์ที่มารวมตัวกัน
“ในช่วงโควิด-19 ผมตั้งวงใหม่ครับชื่อ TANQUE’AMA (ตังเกอาม่า) และสร้างงานขึ้นมาอัลบั้มหนึ่ง มีทั้งหมด 10 เพลง เป็นการทำงานร่วมกับคุณสุทัศน์ เพชรมี ซึ่งเป็นมือเบส โยคีเพลย์บอย งานใหม่ที่ออกมามีส่วนผสมของหลายๆ อย่างที่เราสนใจ เช่น ดนตรีหมอลำ การเอาขลุ่ยไทยมาใช้ ซึ่งผมเป่าเองด้วย และมีการนำดนตรีที่เราไม่ค่อยลองอย่างอิเล็กทรอนิกส์มารวมกัน พอเพลงมีความแตกต่างจากแนวโยคีเพลย์บอย เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นสร้างเป็นอีกแบรนด์หนึ่งแล้วกัน ซึ่งพอมาคิดถึงชื่อวง ผมว่า TANQUE’AMA (ตังเกอาม่า) นี่ลงตัวสุดครับ เพราะเป็นส่วนผสมของคุณสุทัศน์ที่ชอบใส่เสื้อกล้าม กางเกงเล แล้วทำให้ผมรู้สึกถึงความเป็น ‘ตังเก’ ส่วนตัวผมคงเป็นเพราะมีลูกสาวแล้ว เลยรู้สึกมีฮอร์โมนเพศหญิงมากขึ้น (หัวเราะ) ทำให้คิดว่าอยากใส่ชุดนอนผ้าลื่นๆ แบบอาม่า ขึ้นไปบนเวทีดูสบายดี พอนำ2 คำนี้มารวมกันเลยกลายเป็น ตังเกอาม่าครับ แล้วชื่อวงภาษาอังกฤษ “TANQUE’AMA” ก็ดันไปพ้องเสียงในภาษาสเปน “Tan que ama” ที่มีความหมายว่า “เขาจึงรัก” (So he loves) ด้วย ซึ่งก็สามารถบ่งบอกตัวตนพวกเราได้ด้วยครับ”
ความจริงเราเป็นวง Wannabe
โป้เล่าถึงผลงานล่าสุดด้วยน้ำเสียงสบายๆ แถมติดตลกนิดหน่อยว่าผลงานครั้งนี้เรียกว่าเป็นงานที่Wannabe มากๆ “ผลงานที่ปล่อยออกมาแล้วชื่อเพลง ‘หมอล้ำ’ และเพลง ‘บางที…maybe’ ครับ สำหรับหมอล้ำ เป็นเพลงอิเล็กทรอนิคส์ สนุกๆ มีจังหวะแบบ Discomix ผสมกลิ่นอายหมอลำที่ชวนให้ทุกคนกระโดดลุกขึ้นมาเต้นแล้วยังเข้าคู่กับเนื้อเพลงสนุกๆ ที่มีอารมณ์ขันแบบไม่เน้นสาระด้วย ที่ตั้งชื่อว่าหมอล้ำเพราะพวกเราไม่ใช่หมอลำ และไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ เลยใช้ชื่อหมอล้ำดีกว่า เราเป็นวง Wannabe ที่เรียกร้องความสนใจค่อนข้างมาก (หัวเราะ) ส่วนเพลง ‘บางที…maybe’ เป็นเพลงช้าแนว Electronic Soul ร้องด้วยน้ำเสียงเย็นๆ สบายๆ ของสุทัศน์ ท่วงทำนองชวนให้นึกถึงความรักหนุ่มสาวที่กำลังเริ่มก่อตัวช้าๆ อย่างคลุมเครือ ทำให้คู่รักยังสงสัยและตั้งคำถามกับความรู้สึก เพลงนี้เป็นเพลงรักที่มีเนื้อร้องน่ารักๆ ฟังชิลล์ๆ ครับ
อัลบั้มนี้ส่วนใหญ่สุทัศน์จะเขียนทำนอง ส่วนผมจะเขียนเนื้อร้อง ซึ่งวิธีทำคือทุกเพลงสุทัศน์ไกด์โน้ตให้ผม แล้วผมก็จะพยายามฟังภาษานั้นให้เป็นภาษาไทยให้ได้ จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มเขียนเนื้อโดยที่ไม่ได้คิดเรื่องมาไว้ก่อน ทำให้ไม่รู้ว่าเรื่องมันจะออกมายังไง ยิ่งทำให้รู้สึกตื่นเต้น และทำให้งานสนุก และการที่มีดนตรีค่อนข้างหลากหลายในเพลงๆ หนึ่งก็สะท้อนถึงความเป็นคนที่ขี้เบื่อของพวกเราด้วย แต่ว่าโทนโดยรวมจะมีดนตรีพื้นบ้านแทรกๆ อยู่”
โควิด-19 คอนเสิร์ตใหญ่ถูกเลื่อน และการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
สำหรับคอนเสิร์ตใหญ่ ‘YOKEE PLAYBOY REBORN CONCERT’ ที่เลื่อนกันมาหลายรอบ โป้บอกว่ายังไงปีนี้ได้เจอกันแน่ๆ แถมการันตีกับ someonestory.co ด้วยว่าถ้าได้เจอกับแฟนเพลงเมื่อไหร่คงจะได้เต้นกันแบบจุใจจนเป็นลมกันไปข้างหนึ่ง นอกจากนี้เขายังเล่าถึงมุมมองของตัวเองผ่านสถานการณ์การโควิด-19 ที่อยู่กับเรามากว่า 2 ปีให้ฟังด้วย “ผมเรียนรู้ว่า ชีวิตคือความไม่แน่นอน ถ้าในแง่เศรษฐกิจนักดนตรีหรือคนที่มีอาชีพอื่นๆ ในบ้านเราควรมีฐานรายได้มากกว่าหนึ่ง เพื่อว่าวันหนึ่งถ้าสะดุด เรายังมีขาสอง ขาสาม มาช่วยประคองได้ เรื่องต่อมาคือการที่เราได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้า มีค่ากว่ารายได้ที่หามาเสียอีก ใช้โอกาสนี้ให้เป็นโอกาสทองที่จะได้อยู่ร่วมกับคนที่เรารักครับ เรื่องสุดท้ายคืออย่าเพิ่งยอมแพ้ ลองมองหาสิ่งที่ชอบ เพราะยังมีหนทางข้างหน้ารออยู่ อย่างผมเองเมื่อทำอะไรไม่ได้จริงๆ ก็สร้างงานใหม่ขึ้นมาเพื่อไม่ให้ตัวเองฟุ้งซ่านมาก ใช้เวลาอยู่ 2-3 เดือนก็ได้ตังเกอาม่าออกมาให้ฟังกันครับ”
จากเด็กที่ไม่กล้าร้องเพลง สู่การเป็นนักร้องและวงดนตรีมืออาชีพ
ย้อนเวลากลับไป ก่อนหน้าที่เราจะได้รู้จักผู้ชายคนนี้ในฐานะนักร้อง เขาก็คือผู้ชายคนหนึ่งที่ชอบเสียงเพลง ชอบเล่นกีตาร์ แต่อย่างนั้นก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะกลายมาเป็นนักร้อง “ตั้งแต่เด็กผมไม่เคยร้องเพลงแบบจริงจัง ได้แต่ร้องเล่นๆ ไม่คิดว่ามันจะเป็นการร้องที่ดี แต่ชอบเล่นดนตรีมาก อยู่มาวันหนึ่งผมก็ได้มีโอกาสร่วมงานในฐานะนักดนตรีสมทบวงคุณอรอรีย์ เวลาไปเล่นเบส ผมนี่ท่าเยอะมาก แอดติจูดนำหน้าความสามารถไปไกล (หัวเราะ) จากนั้นพี่สมเกียรติ (สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์) เขาเห็นอะไรในตัวผมไม่รู้ เลยชวนให้ผมร้องเพลง ซึ่งก็คือเพลง ‘ทางออก’ ในอัลบั้ม Zequence แล้วพี่สมเกียรติก็ได้ใช้เพลงของผมเพลงหนึ่งที่ผมแต่งด้วย ชื่อเพลง ‘ตอนนี้’ นั่นคือจุดเริ่มต้นอาชีพนักร้องและนักแต่งเพลงให้เบเกอรี่ครับ ผมเริ่มเมื่อปี 2538 ซึ่งก็ประมาณ 27 ปีมาแล้ว
ในเรื่องการร้องเพลง ผมจำได้ว่าประสบการณ์ครั้งแรกในการบันทึกเสียงคือร้องเพลงอัดเองในอัลบั้มของพี่สมเกียรตินี่ล่ะ ร้องไปอาทิตย์หนึ่งแล้วก็ยังไม่เวิร์ก ฟังแทบไม่ได้เลย เราก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เพราะเป็นการร้องตามความเคยชินของตัวเอง สุดท้ายพี่ๆเลยโทรตามพี่บอย (บอย โกสิยพงษ์) ซึ่งพี่เขาแนะนิดเดียวผมก็ร้องได้เลย แล้วก็พัฒนาตัวเองจากจุดนั้นมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ ในเรื่องดนตรีผมก็เรียนรู้จากเบเกอรี่เหมือนกัน สำหรับผมที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนที่สอนผมหลายอย่าง ก่อนหน้านั้นวิธีการทำดนตรีของผมมาจากการฟังและทำตามความสนใจของตัวเอง ไม่ได้รู้เลยว่าในธุรกิจดนตรีจริงๆ ห้ามทำเพลงละ 6-8-10 นาที พอทำไปแบบนั้นพี่สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์) ก็ปฏิเสธทั้งหมด และบอกว่าเขาไม่ทำเพลงยาวขนาดนี้ ผมก็เริ่มเรียนรู้จากตรงนี้อีก นอกจากนี้ผมยังได้เห็นชีวิตของนักดนตรี ระบบของธุรกิจดนตรีจริงๆ ว่าเป็นยังไง มีลักษณะไหนบ้าง เราอยู่ตรงจุดไหน จนวันหนึ่งเมื่อผมไม่สังกัดค่ายใด แต่มาทำบริษัทโยคีเพลย์บอย ดูแลตัวเอง ก็เลยรู้ว่ายังมีอีกหลายจุดที่เราต้องเข้าไปดูแล ทั้งในแง่ของการโปรโมต การทำสื่อเพื่อนำเสนอผลงาน”
‘ส่ายก้น’ ท่าเต้นในตำนานจำที่วัยรุ่นยุค 90 จำติดตา
คิดว่าเด็กเบเกอรี่ทุกคนน่าจะต้องจำท่า ‘ส่ายก้น’ ในตำนานของผู้ชายคนนี้ได้แน่ๆ ซึ่งเพิ่งจะมารู้ว่าความจริงว่าจุดเริ่มต้นของท่านี้คือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าของเขา แต่กลายเป็นเลยเถิดมาไกลจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองจนถึงวันนี้ “ตอนออกอัลบั้มโยคีเพลย์บอยชุดแรก ช่วงไปทัวร์คอนเสิร์ต เราเป็นวงเดียวที่เสียงตอบรับน้อยมาก พอมาวิเคราะห์ดูพบว่าการเล่นดนตรีไปพร้อมกับร้องทำให้คุณภาพในการร้องของผมลดลง เลยทดลองดูในคอนเสิร์ตหนึ่ง จำได้ว่าไปเชียงใหม่ แล้วแกล้งลืมหยิบกีตาร์ไป พอถึงโชว์จริงๆ ตอนแรกก็ตั้งใจร้องแหละ แต่กลายเป็นว่าอินอยู่คนเดียว คนดูไม่อินตาม กีตาร์ก็ไม่มีให้ปรับเปลี่ยนสถานการณ์ จังหวะนั้นไม่รู้ว่าอะไรดลใจให้ผมหันหลังร้องเพลง แล้วส่ายก้นไปมา ลองนึกถึงชายที่มีเครา น่ากลัวๆ หน่อยมาทำอะไรแบบนี้ดู ทั้งตลกดีในความคิดของผมแล้วยังลิ้งกับชื่อวงโยคีเพลย์บอยด้วย กลายเป็นว่าคนเริ่มมีฟีดแบ็ก คอนเสิร์ตนั้นประสบความสำเร็จ จากที่ไม่เคยมีคนปรบมือ ก็มีคนปรบมือให้ บานปลายเลยครับทีนี้ ผมเลยสนุกกับการที่เป็นเหมือนคอนดักเตอร์ของวงออเคสตร้าที่คอนดักต์บรรยากาศทั้งหมดบนเวทีด้วยอะไรก็ได้ จะท่าก็ได้ ไม่ใช่ท่าก็ได้ เคยมีบางช่วงในบางโชว์ที่ใช้เสียงเบาที่สุดไปจนไม่มีเสียง และเงียบไปเลย แต่แฟนเพลงทุกคนก็ยังไปต่อ ดนตรียังอยู่ในหัวเขาด้วยอะไรบางอย่าง เป็นเรื่องที่ผมได้เรียนรู้กับการทำงานตรงนี้ด้วยครับ”
‘สถาปนิก’ สิ่งที่ทำให้รู้ว่า ‘ดนตรี’ คือที่สุด
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า บางครั้งเราอาจได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เรารักที่สุดจากการเปรียบเทียบสิ่งที่ทำกับอะไรบางอย่าง สำหรับโป้คืองานดนตรีกับงานสถาปนิก และนั่นทำให้เขาได้คำตอบว่าอะไรที่คือสิ่งที่เขาจะทำไปตลอดชีวิตนี้ “ผมเรียนจบสถาปัตย์มา เพราะคุณพ่ออยากเป็นเราเรียนทางด้านนี้ ซึ่งก็ตามใจท่านครับ ในขณะเดียวกันเราก็ทำงานทางดนตรีมาเรื่อยๆ ควบคู่กันไป เคยมีช่วงที่ผมทำงานประจำเป็นสถาปนิกฝึกหัดเลย ตอนนั้นเป็นช่วงหมดสัญญากับเบเกอรี่พอดี ช่วงนั้นผมเกิดคำถามว่า ‘คนเราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นเป็นสิ่งที่รักและจะทำไปจนตาย ถ้าคุณไม่มีตัวเปรียบเทียบ ถ้าไม่เคยไปลองทำอย่างอื่นเลย คุณบอกไม่ได้หรอกว่านี่ใช่ เพราะอาจมีที่ใช่กว่าก็ได้’ ผมเลยลองไปทำกับออฟฟิศของที่บ้านดู แล้วก็พบว่าแต่ละวันผมมองหาความสุขไม่ได้เลย ความภูมิใจตัวเองเริ่มลดลง โอเค มีเงินก็เก็บไป แต่ไม่ได้อยากใช้เงินไปกับอะไร จนวันหนึ่งเริ่มมองว่า เอ๊ะ หรือว่าเพราะเรายังไม่มีครอบครัว ทำงานจนลืมมองว่าอยากมีลูก ผมก็เลยเริ่มมองหาคนที่ใช่มาสร้างครอบครัวด้วยกัน ระหว่างนั้นก็รับงานโชว์ไปเรื่อยๆ ด้วย ในใจก็ยังคิดว่าสถาปนิกไม่ใช่ผมหรอก เพราะมีความฝืนตัวเองอยู่ แต่ที่ทำได้ก็เพราะอยากทำให้พ่อ
กระทั่งพอมาถึงจุดที่ผมรู้ตัวว่าผมทำมันได้ไม่ดีดั่งใจเรานั่นล่ะ ทำให้มานั่งคิดว่าต้องมีเหตุผลที่ทำให้ผมเจอกับดนตรี และการมาฝึกเป็นสถาปนิกก็ทำให้ผมรู้ว่าควรกลับไปทำดนตรี ซึ่งตอนนั้นไม่ใช่ยุคของผมแล้วโดยสิ้นเชิง เป็นยุคของน้องๆ รุ่นใหม่ แต่ก็พบว่าเราอยากจะทำดนตรีจริงๆ แล้วก็กลับมาด้วยความมุ่งมั่นที่มากกว่าเก่าหลายเท่า มีการไปเรียนรู้เพิ่มเติม ตอนนั้นผมได้ลูกสาว (น้องชินา ศาสตรวาหา) แล้ว มีหน้าที่ต้องพาลูกสาวไปเรียนเปียโน เรียนดนตรีทุกวันอาทิตย์ ช่วงนั้นผมก็นั่งเรียนในคอร์สอนุบาลไปด้วย รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยากครับ โน้ตยังน้อยๆ ทำความเข้าใจง่าย แล้วคุณครูเขาเมตตาด้วย เพราะว่าเขามาสะกิดบอกผมว่า คุณพ่อตั้งใจมากเลยนะ เดี๋ยวสอนคุณพ่อไปด้วยเลยนะ เมื่อก่อนเราไม่รู้ทฤษฎี เลยสื่อสารกับนักดนตรีไม่ค่อยได้ แล้วใครก็อธิบายในสิ่งที่เราทำให้พวกเขาเข้าใจไม่ได้ พอเรียนตรงนี้ก็เลยสื่อสารเรื่องดนตรีได้มากขึ้น แล้วยังมีความมั่นใจจนกล้าที่จะลองแต่งเพลงจากเปียโนด้วยมีเพลงใหม่ๆหลายเพลงที่ได้แต่งจากเปียโน อย่างเช่น “เธอรู้ไหมฉันไม่ชอบเลยเวลาที่เธอพูดถึงเขา” “รักรอที่ฟลอร์เต้นรำ” “นอนคนเดียว กินคนเดียว ดูทีวีคนเดียว” “เรื่องจริงจริง” เป็นต้นครับ
อีกเรื่องที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานเพลงคือเมื่อทำไปนานมากๆ จะรู้สึกตัน ทำแล้วไม่แฮปปี้เหมือนเดิม เรื่องนี้ผมมีแนวทางให้ลองทำดู เช่น ถ้าไม่รู้ว่าดับเบิ้ลเบสเล่นยังไงก็ลองเปลี่ยนการแต่งเพลงจากเปียโนหรือกีตาร์ไปลองใช้ดับเบิ้ลเบสแต่ง เมื่อก่อนคุณเป็นร็อก แต่ไม่รู้ว่าแร็กเก้เป็นยังไงก็ลองไปแต่งแร็กเก้แล้วทำเพลงแนวนี้ออกมา ถามว่าตัวตนเราจะเปลี่ยนไปไหม ไม่เปลี่ยนหรอกครับ แต่จะได้งานที่ไม่เคยทำและแปลกออกมาแทน ซึ่งผลจะมีสองข้อคือ หนึ่ง ใช้ไม่ได้เลย แย่ เราก็แค่ทำใหม่ครับ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แต่ถ้าทำมันแล้วเวิร์ก จะพบว่าความสุขของคุณจะกลับคืนมาแล้วจะมากกว่าเดิมด้วย สุขเกินคาด ลองทำดูแล้วอาจช่วยให้คุณหาทางออกได้ครับ”
DNA ของโยคเพลย์บอย
เป็นเวลากว่า 26 ปีที่เราได้ยินเพลงของโยคีเพลย์บอย แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนนสไตล์ในการทำเพลงของวงนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไป “จนถึงวันนี้ DNA ของโยคีเพลย์บอยก็ยังมาจากการทำเพลงจากสิ่งที่เราสนใจ ตอนแรกเราไม่รู้ทฤษฎี ไม่รู้อะไร ทำไปตามความเข้าใจ เรียนรู้จากการฟัง DNA ของเราคือการคาดเดาไม่ได้ ดนตรีของโยคีเพลย์บอยเป็นการผนวกหลายๆ แนวเข้ามารวมกันในดนตรีป๊อปซึ่งคือเมโลดี้ที่ร้องออกมา ส่วนสไตล์เป็นเรื่องเสื้อผ้า ถ้าคุณเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับตัวแกนก็จะกลมกลืน และทุกคนก็จะรับได้ง่าย ผมเลยพยายามหาความกลมกลืนนี้ เพราะผมขี้เบื่อเสื้อผ้า เลยเหมือนนำเสื้อผ้ามาใส่แล้วก็มิกซ์แอนด์แมตช์กันใหม่ตลอดครับ”
ร้องในสิ่งที่เชื่อ พูดในสิ่งที่ใช่
“วิธีทำเพลงแบบผมคืองานจะต้องเติมเต็มตัวเอง ต้องใช่จริงๆ กับสิ่งที่เราเป็น ไม่อย่างนั้นจะฝืนตัวเองมากที่จะร้องในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ พูดในสิ่งที่ตัวเองไม่ใช่ ผมจะทำไม่ได้เลย ทำให้ต้องแต่งเพลงเอง ซึ่งพอกลับมาทำเพลงในวันที่ไม่ใช่ยุคของเราแล้ว ผมเลยไม่กลัว เพราะรู้ว่าเราจะต้องทำสิ่งนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็จะยอมรับว่านี่ไม่ใช่ยุคเรา ซึ่งผมชิลล์นะ เพราะเป้าหมายคืออยากเป็นเพียงแค่หนึ่งในตัวอย่างเล็กๆ ให้เด็กๆ ได้ฟัง ได้ดูอะไรที่แปลกๆ มีเรื่องราวของคนรุ่นก่อน เขาจะได้รู้เยอะ เห็นเยอะ เมื่อเขารู้เยอะ เห็นเยอะ ก็จะสร้างงานที่มันมีคุณค่า และพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ ผมว่าที่ตัวเองยังมีแพสชั่นในการทำเพลงอยู่คงเป็นเพราะผมไม่คาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ผมอยากให้โลกนี้มีบรรยากาศที่น่าอยู่ รวมถึงอยากเห็นเด็กๆ มีความสุขด้วย นี่เป็นอุดมคติของชีวิตผม”
ดนตรีและเสียงหัวเราะคือของขวัญที่มีค่าที่สุด
เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้โป้ก็ได้พูดถึงอีกมุมมองของตัวเองแต่ก็ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสุขที่ยึดโยงในชีวิตของเขา “ของขวัญสองสิ่งที่มีค่าที่สุดที่มนุษย์ทุกคนจะได้รับเหมือนเป็นพรเมื่อเกิดมาเลย คือดนตรีและเสียงหัวเราะ การที่ผมได้ทำดนตรี ถือว่าได้รับโอกาสนั้นแล้ว ควรรักษาและพัฒนาต่อยอด เพราะฉะนั้นเพลงที่ออกมาส่วนใหญ่ช่วงนี้ ผมจะไม่คิดมาก แค่เนื้อหายังพอมีประโยชน์ ไม่ได้เป็นพิษกับวงการดนตรีหรือสังคมก็ปล่อยไปได้ หรือในเรื่องของเสียงหัวเราะก็เป็นสิ่งที่มีค่า และผมเริ่มต้นทำเรื่องนี้ที่บ้าน หลักในการเลี้ยงลูกของผมคือให้เขาอารมณ์ดีครับ เพราะผมเห็นว่าแนวคิดและมุมมองโลกของเด็กๆ สำคัญต่อบ้านเมือง แค่ดูแลครอบครัวให้มีความสุข ทำให้ลูกคุณยิ้ม อารมณ์ดี เบิกบานสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งพลังดีๆ ออกไปนอกบ้าน เมื่อคิดดี อารมณ์ดี สิ่งดีเข้ามา จินตนาการเกิด ร่างกายแข็งแรง แล้วต่อยอดไปถึงอนาคตของประเทศได้ในที่สุด”
คุณพ่อไม้สองและสามีธรรมดาสุดพิเศษ
เมื่อเล่ากันมาถึงเรื่องครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของเขา โป้ก็พูดกับเราด้วยน้ำเสียงที่มีความสุขว่า “การใช้ชีวิตครอบครัวสอนให้ผมรู้ว่า ในเรื่องลูกคุณพ่ออย่างเราอย่าได้ไปแย่งไม้หนึ่งจากคุณแม่เด็ดขาด เพราะว่าคุณแม่เขาทรงอิทธิพลและยิ่งใหญ่จริงๆ ผมเห็นมากับตา เขายอมสละได้ทุกอย่างเพื่อลูก ฉะนั้นหน้าที่หลักของคุณพ่อคือทำให้บรรยากาศโฟลว์ สบายๆ ทำให้ที่บ้านเย็นๆ อย่าไปเถียงแม่ ทำให้อารมณ์ของทุกคนในบ้านดี และพูดกันเพราะๆ อย่าใช้อารมณ์ นอกจากนี้คุณพ่อต้องอดทนและรับไม้สองจากคุณแม่ได้ทุกเวลาด้วยนะครับ แม่ไม่ว่างปั๊บ คุณต้องมาทำเอง ทำได้ทุกอย่าง ผมล้างก้นลูก อาบน้ำลูก สอนการบ้านลูก ทุกอย่างทำมาหมด แต่เป็นไม้สองพอนะ อันนี้ขอเตือนไว้เลย (หัวเราะ)
ถ้าในบทบาทสามี เราไม่ได้อยู่กันแบบจี๋จ๋า แต่อยู่แบบเข้าใจกัน พูดกันรู้เรื่องเหมือนเพื่อน ส่วนความโรแมนติกของผมแปลกกว่าชาวบ้านแน่นอน คือถ้าเราทำวันธรรมดาของเราให้รู้สึกพิเศษได้มากเท่าไร ชีวิตคู่ยิ่งสบายครับ เราเลยไม่ได้ให้ค่าความสำคัญกับวันนั้น วันนี้มาก ถึงตอนนี้พ่อแม่ไม่ค่อยได้มองตัวเองด้วยซ้ำ กลายเป็นว่ามองผ่านไปหาลูกแล้ว ให้เขาเป็นที่ตั้งครับ (หัวเราะ) แต่ถ้าถามถึงการเลี้ยงลูก เราสองคนจะหัดให้เขามีความรับผิดชอบ เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น เก็บที่นอน เตรียมตัวก่อนออกจากบ้านได้เอง เหล่านี้จะทำให้เขาภูมิใจที่ได้เข้ามาแบ่งเบาภาระ และเมื่อได้รับคำชม ลูกจะแฮปปี้แล้วเริ่มทำมากขึ้น ตอนนี้อายุเขาเพิ่ง 10 ขวบ ส่วนความสนใจ แรกๆ ชินาชอบฟังเพลงมาก แล้วผมก็อยากทำเพลงกับลูกมากด้วย แต่เป็นเพลงที่อาวองการ์ดมาก ซึ่งแอบอัดเสียงไว้ มีความคิดอยากให้เขาร้องเพลงที่ผมแต่ง หรือให้เขาเขียนเนื้อภาษาอังกฤษให้ผมสักหน่อย แต่หลังๆ เขามาสนใจพวกอนิเมะ Illustrator พวกสร้างภาพเคลื่อนไหวมากขึ้น เราก็ปล่อยให้เขาเจอเยอะๆ ทำเยอะๆ อย่างน้อยเขาจะได้รู้ว่าอะไรที่เขาชอบหรืออะไรที่ไม่ชอบครับ”
นายแบบ: ปิยะ ศาสตรวาหา
สัมภาษณ์: กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
ช่างภาพ: อิทธิพล พนาสุภน, กาซาลอง คำจริง
ติดตามเรื่องราวของ “Someonestoryco” เพิ่มเติมได้ที่
Web : http://someonestory.co
Facebook : https://www.facebook.com/SomeoneStory.co/
Instagram : https://www.instagram.com/someonestory.co/
Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCnm6Li8Brk1QCyb9lBHrMEA
Twitter : https://twitter.com/someonestoryco