ก้าวเล็กที่ยิ่งใหญ่ และการเติบโตทางด้านจิตใจของ “เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ”

การเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ พบกับขุมพลังความสุขที่หาซื้อไม่ได้จากที่ไหน และยังทำให้เธอมีเป้าหมายในชีวิตที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการสร้างรายได้ให้กับตนเอง เกือบ 6 ปีที่ผ่านมา เชอรี่ได้ทำโครงการ Little Forest ร่วมกับคุณโรจน์-ภูภวิศ กฤตพลนารา เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า ISSUE และอาจารย์อโนทัย ชลชาติภิญโญ เพื่อช่วยสนับสนุน สร้างสรรค์ รักษาสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้น ทั้งการปลูกป่า สร้างฝาย ให้ความรู้ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ต้องการธรรม จำกัด ที่อยู่เบื้องหลังโครงการ Little Big Green ร่วมกับครูลูกกอล์ฟ (คณาธิป สุนทรรักษ์) และคุณกอล์ฟ-รัฐวุฒิ ชัยวงศ์ขจร เพื่อสร้างความตระหนักรับรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้สังคมในวงที่กว้างขึ้นด้วยข้อมูลที่ย่อยง่ายผ่านทางโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม และกิจกรรมต่างๆ

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2563 เธอยังปลุกปั้นแบรนด์ Sirithai เพื่อซัพพอร์ตชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 และยกระดับคุณค่ารวมถึงราคาข้าวไทยให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นโดยเริ่มที่บ้านโคกสะอาด จังหวัดสกลนคร  ล่าสุดเมื่อปลายปี 2564 เชอรี่ก็ได้ต่อยอด Sirithai ด้วยการเปิดตัว Sirithai Artisan Liquid Soap สบู่เหลวที่ทำจากน้ำมันรำข้าวเกรดพรีเมียม ออร์แกนิกแบบเข้มข้นที่นำมาจากชุมชนเลิงนกทา จังหวัดยโสธร แหล่งปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรวิถีเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง

เชอรี่ยอมรับว่าการทำงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็สนุกมาก ในขณะเดียวกัน ก็ต้องรับมือกับมรสุมลูกใหญ่จากการสูญเสียคุณพ่อและผู้จัดการส่วนตัวไปในเวลาไล่เลี่ยกันอีกด้วย แม้จะรู้สึกเสียศูนย์ แต่เชอรี่ค่อยๆ ปรับจูนตัวเองใหม่ ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งยังรู้สึกขอบคุณชีวิตที่นำพาเรื่องราวต่างๆ เข้ามาให้ตัวเองได้เดินออกมาจากเซฟโซนเพื่อให้เติบโตและแข็งแรง ใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ก่อนจะมาเป็น Sirithai

หลังจากทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาได้ 4-5 ปี เชอรี่รู้สึกว่าอยากแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรม เลยเลือกจากเกษตรกรซึ่งทำเกษตรกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตัวเองเป็นคนชอบกินข้าวแล้วรู้สึกว่าเกษตรกรไทยมีสัดส่วนที่เป็นชาวนาค่อนข้างเยอะ เลยอยากจะเริ่มต้นที่ข้าวก่อน นอกจากนี้ยังอยากสร้างเป็นแบรนด์เพื่อจะได้มีข้อผูกมัดให้ตัวเอง  อยากทดลองทำในฐานะที่เราจะช่วยกันในระยะยาวเพื่อให้ธุรกิจนี้อยู่ได้จริงๆ จะได้เป็นโมเดลธุรกิจให้กับพี่ๆ เกษตรกรในชุมชนอื่นๆ ด้วย ซึ่งแบรนด์ Sirithai เกิดขึ้นจากแนวคิดนี้ และตอนนั้นก็อยากช่วยเกษตรกรไทยช่วงโควิด-19 ด้วยค่ะ

เชอรี่เริ่มจากการชิมข้าว 20-30 แหล่ง หุงข้าวชิมอยู่อย่างนั้น อันนี้อร่อย อันนี้ชอบ คัดๆ จนเหลือไม่กี่สายพันธุ์ แต่ละแหล่งก็จะมีทั้งข้าวปลอดสาร ข้าวอินทรีย์ ซึ่งข้าวปลอดสารคือการปลอดสารบางอย่าง แต่อาจมีสารบางอย่าง ส่วนข้าวอินทรีย์คือข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีเลย ซึ่งข้าวไทยที่ยังไม่ได้มีการรับรองแต่อาจใช้คำว่าอินทรีย์ได้โดยไม่มีการตรวจสอบ ยิ่งทำให้เราต้องละเอียดมากยิ่งขึ้นไปอีก

เชอรี่ต้องไปตรวจพื้นที่เองว่าเป็นข้าวอินทรีย์จริงไหม ระบบน้ำ ดิน หรือสารเคมีเขาเป็นยังไง จนได้มาพบที่บ้านโคกสะอาด จังหวัดสกลนคร โดยชุมชนที่เราเข้าไปสนับสนุนมี 22 ครัวเรือน แล้วคนที่เป็นผู้นำชุมชนก็อายุไล่เลี่ยกันกับเชอรี่ และเป็นคนที่ทำให้แม่ๆ ป้าๆ เกษตรกรกลับมาสู่วิถีเดิม กว่าที่ใครจะมาเป็นสมาชิกในชุมชนได้ ต้องมีการตรวจสอบว่าไม่ใช้สารเคมีในการปลูกมาเป็นระยะเวลา 3 ปีก่อนหน้า ซึ่งเชอรี่อยากให้ทุกอย่างปลอดสารเคมีตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมไปถึงแพ็กเกจก็อยากรับผิดชอบในเรื่องสิ่งแวดล้อม เลยเปลี่ยนเป็นขวดเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราทำด้วยค่ะ

วิกฤตคือความสนุกและท้าทาย

เราเริ่มทำเรื่องนี้ตอนที่หมดโควิด-19 รอบสองและคิดว่าน่าจะโอเค แต่ปรากฏว่าโควิด-19 ยังไม่จบ เลยทำให้ได้ลงมือทำอะไรเองเยอะ เรื่องไหนจำเป็นถึงจ้าง แล้วลองขายในออนไลน์ก่อน ทำให้ไม่ต้องมีภาระที่นอกไปจากตัวผลิตภัณฑ์มากเท่าไหร่

การทำตรงนี้มีทั้งความท้าทายและความสนุก ท้าทายในเชิงที่ว่าเชอรี่ไม่เคยทำธุรกิจเพื่อสังคมแบบนี้ ดังนั้นจะทำยังไงให้ธุรกิจอยู่ได้  เพราะในสังคมไทยแบรนด์ธุรกิจเพื่อสังคมจริงๆ ล้วนใช้เวลานานมากกว่าที่จะอยู่อย่างแข็งแรง ต้องมีการต่อสู้ในช่วงเริ่มต้นพอสมควร ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสื่อสารด้วยว่าสิ่งที่เราทำ ทำเพราะมีจุดมุ่งหมายในการช่วยหรือสนับสนุนในเรื่องของใครบ้าง ลูกค้าของเราเขาต้องเข้าใจด้วยว่าจ่ายแพงกว่าแล้วได้อะไร นอกจากสุขภาพที่ดี ของที่ดีที่สุดที่เราหามาให้ เขาได้สนับสนุนชุมชนที่ไหน ได้ช่วยสิ่งแวดล้อมในแง่ไหน ต้องมีการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจ เรื่องนี้ก็เป็นอะไรที่ไม่ง่ายเหมือนกัน ซึ่งผลตอบรับที่ดี ทำให้อยู่ได้และไปได้ด้วยตัวของสินค้าเอง เหมือนคนที่ซื้อเขาบอกต่อ เขาชื่นชอบในความซื่อตรงของเรา ทั้งในเรื่อง  คุณภาพของสินค้า การคัดเลือกชุมชน เรื่องแพ็กเกจ การจัดส่งที่รวดเร็วและเรียบร้อย ฯลฯ

ต่อยอดข้าวไทยสู่ Sirithai Artisan Liquid Soap

ยิ่งคลุกคลีกับข้าวมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เรารู้รายละเอียดว่า มีอะไร ตรงส่วนไหนที่เป็นประโยชน์จากข้าวบ้าง ซึ่งน้ำมันรำข้าวก็เป็นอะไรที่มหัศจรรย์มากๆ ในการที่จะเอามาใช้ไม่ว่าจะเป็นกับผิวหรือสุขภาพค่ะ พอช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 อีกระลอกเมื่อต้นปี 2564 เชอรี่ก็ได้อยู่บ้านมากขึ้นและอยากลดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ เลยทำสบู่ใช้เองโดยนำน้ำมันรำข้าวมาลองทำ แล้วปรากฏว่าใช้ดี พอนำไปแจกคนอื่นๆ ทุกคนก็ชอบ ถามกลับมาว่าทำไมไม่ทำขาย

เราเลยมองหาชุมชนที่ผลิตน้ำมันรำข้าวซึ่งได้ไปเจอที่ชุมชนเลิงนกทา จังหวัดยโสธร นอกจากจะผลิตน้ำมันรำข้าวคุณภาพสูง เขายังปลูกข้าวแบบดูแลสิ่งแวดล้อม รักษาป่ารอบๆ ข้างด้วย ซึ่งความจริงแล้วผิวของคนเราเป็นอะไรที่เซนสิทีฟต่อการดูดซับสิ่งต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย เชอรี่เลยอยากทำอะไรที่เป็นออร์แกนิกจริงๆ และใช้น้ำมันรำข้าวเกรดที่ดีที่สุดที่เขาใช้สำหรับทำอาหารเสริมสำหรับรับประทานมาทดลองทำสบู่ แล้วพบว่าดียิ่งขึ้นไปอีกในเรื่องความชุ่มชื้น แต่ต้นทุนสูงมาก แต่เราก็อยากลอง เลยทำเป็นเมดทูออเดอร์ ด้วยความที่ไม่มีสารเคมีใดๆ เลยอยากให้คนที่สั่งได้ใช้ให้หมดภายใน 3 เดือน เพื่อที่จะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ในช่วงที่มีประสิทธิภาพที่สูงที่สุด แต่จริงๆ ใช้ได้นานถึง 6 เดือน กว่าจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ออกมาครั้งหนึ่งๆ ใช้เวลาการผลิตนานประมาณ 2-4 สัปดาห์ และเพราะเราทำกันเองจึงทำให้ผลิตได้ในแต่ละครั้งมีจำนวนไม่มาก การทำสบู่ของเรามีลักษณะคล้ายกับการทำเบเกอรี่ ทุกอย่างเป็นแฮนด์เมด ซึ่งพอเปิดตัวไปแล้วก็ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกันค่ะ

ทุกอย่างคือการต่อยอด

งานสิ่งแวดล้อมที่เชอรี่ทำทุกงานล้วนเป็นเรื่องที่เราประทับใจ รู้สึกว่าต่างเอื้อกันจนทำให้เรามาทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้ค่ะ เริ่มจากการลงพื้นที่ไปดูภัยแล้งที่จังหวัดน่าน กับทางโครงการแม่ฟ้าหลวง จนมาทำโครงการ Little Forest ได้รับเชิญไปพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่อยอดมาเป็น Little Big Green เรื่อยมาจนสร้างแบรนด์ Sirithai รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นเหตุปัจจัยที่ส่งต่อกันมาจนมีวันนี้

เชอรี่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน

เมื่อก่อนด้วยความที่ไม่ค่อยมีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมากเท่าไหร่ สมัยก่อนพอไปปลูกป่า สร้างฝาย ก็รู้สึกว่าเราได้ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว จนพอมารู้ข้อมูลว่าสิ่งแวดล้อมไม่ได้อยู่ไกล แต่อยู่ในชีวิตประจำวันรอบๆ ตัวเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณแม่สอนเรามาตั้งแต่เด็ก เช่น การใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากร ข้าวของอะไรต่างๆ ถ้าเราใช้เท่าที่จำเป็น ก็ทำให้เราใส่ใจกับตรงนี้มากขึ้น ไม่ร้อนมากก็ไม่เปิดแอร์ ใช้พัดลมแทน ประหยัดน้ำ ลดการสร้างขยะในหลากหลายรูปแบบ ฯลฯ

ทุกวันนี้การพกกระติกน้ำไปไหนมาไหนด้วยกลายเป็นความเคยชิน จากตอนแรกๆ ก็มีลืมพกออกจากบ้านหรือเอากลับบ้าน หรือไปไหนก็จะคอยวิ่งตามขวดน้ำของตัวเองเพราะว่าลืมบ้าง แต่หลังๆ กระติกน้ำกลายเป็นอีกอวัยวะหนึ่งคล้ายๆ มือถือของเราไปแล้ว ส่วนเรื่องแฟชั่นเดี๋ยวนี้ เวลาจะซื้ออะไรก็จะคิดมากยิ่งขึ้น แต่เชอรี่เป็นคนที่ใช้ของคุ้มอยู่แล้ว ซื้อมาแล้วใช้นาน ไม่ค่อยเปลี่ยนตามแฟชั่นมากสักเท่าไหร่ สำคัญที่สุดตอนนี้คือลดที่ต้นทาง ซื้อให้น้อยลง อาจเลือกที่เป็นโลคัลแบรนด์มากยิ่งขึ้น หรือเป็นแบรนด์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เรื่องนี้ก็ต้องดูด้วยว่าทำเป็นกระแสเพื่อมาร์เก็ตติ้งหรือเปล่า หรือมีความรับผิดชอบในเรื่องนี้จริงๆ เราก็ควรเลือกแบรนด์ที่เขาทำจริงๆ เชอรี่ก็อยากสนับสนุนนะ สำหรับใครที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ขอบคุณชีวิตที่ทำให้เรียนรู้

นอกจากเชอรี่จะได้เรียนรู้ในเรื่องของงานสิ่งแวดล้อม อีกเรื่องที่ได้เรียนรู้และเติบโตคือการเข้าใจเรื่องความสูญเสีย ช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา เชอรี่ได้เสียคุณพ่อและผู้จัดการส่วนตัวไป ในเรื่องคุณพ่อ เรามีเวลาเตรียมตัว เตรียมใจ เพราะท่านไม่สบายมา 3-4 ปีก่อนหน้านั้น แล้วตัวเองได้มีประสบการณ์มาตั้งแต่ตอนเสียคุณแม่ด้วยว่า เราอยากจะทำอะไรให้เขาบ้าง สิ่งที่เราไม่ได้ทำคืออะไร สิ่งที่เราเสียใจว่ายังไม่ได้ทำคืออะไร ซึ่งเชอรี่มีเวลาเตรียมตัวมาตลอดระยะเวลา 19 ปี หลังจากที่เสียคุณแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ท่านป่วยอยู่ 3-4 ปี เราได้ทำหน้าที่ดูแล เป็นที่พึ่ง เป็นหลักยึดให้คุณพ่อได้อย่างเต็มที่ วันที่เสียท่าน เชอรี่เสียใจนะคะ แต่ไม่รู้สึกว่ามีอะไรค้างคา และรู้ว่าต้องดูแลตัวเองให้ดี เพราะว่าเราคือดวงใจของพ่อ ถ้าเราดูแลตัวเองดี พ่อต้องมีความสุข แค่นั้นคือสิ่งที่รู้ มีร้องไห้ด้วยความคิดถึง แต่ไม่ได้ฟูมฟาย และรับได้กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะเข้าใจสัจธรรมของชีวิต

ส่วนเรื่องที่ไม่ได้เตรียมตัวคือการสูญเสียผู้จัดการ เพราะเรื่องนี้เกิดหลังจากเสียคุณพ่อได้เพียง 99 วัน มันเร็วมากค่ะ เรื่องนี้ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งว่าต่อให้เราคิดว่าเราเตรียมตัวได้ดีเท่าไหร่ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่ได้เตรียมตั้งรับมัน ตอนเสียพี่แตนซึ่งเป็นผู้จัดการส่วนตัว เชอรี่เสียศูนย์พอสมควร แล้วค่อนข้างที่จะต้องเซ็ตชีวิต เซ็ตไดเรกชั่น เรื่องสิ่งรอบตัวใหม่ เพราะพี่แตนเป็นพี่ที่อยู่กับเรามากว่า 20 ปี เป็นมากกว่าผู้จัดการ เป็นทุกอย่างให้เชอรี่ เป็นเหมือนคนในครอบครัว เป็นเหมือนแม่อีกคน ซึ่งพอไม่มีพี่แตน ก็ต้องตั้งหลัก ตั้งสติอยู่พอสมควร

ตอนนั้นทำให้เชอรี่รู้ว่ามรสุมชีวิตไม่ได้มีแค่ลูกเดียว ภัยพิบัติของชีวิตสามารถเข้ามาได้อีกโดยที่ไม่ต้องปรานีเรา ชีวิตยังมีเรื่องเกินความคาดหมายอีกเยอะ อย่ามั่นใจว่าตัวเองเตรียมความพร้อมมาจากการศึกษาธรรมะ จากการเข้าใจสัจธรรมของชีวิต ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้ แล้วเราต้องรับมือกับมันตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เรื่องพี่แตน เชอรี่ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนนะคะถึงจะดีขึ้น มหันตภัยลูกนี้ทำให้เราเซและรู้จักตัวเองว่าเราไม่ได้แกร่งเหมือนที่ตัวเองคิด และมันหนักตรงที่ตอนแรกเราไม่ยอมรับตัวเองว่าไม่ไหว โชคดีที่พี่เป้ (ปูเป้-รามาวดี นาคฉัตรีย์ พี่สาวของเชอรี่) เห็นและบอก ทำให้เราเริ่มมองเห็นความรู้สึกของตัวเองตามความเป็นจริงว่า นี่เราแย่มาก หนักมาก แล้วพอเริ่มยอมรับ ความรู้สึกนั้นก็ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ดีขึ้น ตอนนี้ก็กลับไปสู่โหมดที่บริหารจัดการตัวเองได้แล้วค่ะ

เตรียมตัวแต่ไม่ต้องมั่นใจ

จากเรื่องที่เกิดขึ้น เรื่องที่เชอรี่อยากแชร์คือให้เตรียมความพร้อมของตัวเองให้ดี แต่ระหว่างเตรียมก็ไม่ต้องมั่นใจ เตรียมไปและรู้ไปว่ามันเกิดอะไรขึ้น คนที่ยังมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ก็เตรียมตัว และรู้ว่าวันหนึ่งความพลัดพรากต้องมาถึง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของคุณพ่อ คุณแม่ แต่ยังเป็นเรื่องของคนรัก คนใกล้ชิดที่เราผูกพัน เชอรี่คิดนะว่าความสูญเสียนี่มันเจ็บปวดเหลือเกิน กระชากลึกเข้าไปที่ภายในหัวใจเหลือเกิน แล้วมันต้องเกิดอย่างนี้อีกหลายครั้ง แล้วไม่ใช่ว่าเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ ความสูญเสียนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะยิ่งเรามีคนรักมากเท่าไหร่ เราก็ต้องเผชิญกับความรู้สึกนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้น

สิ่งที่เราต้องทำคือเตรียมตัว วันหนึ่งเราต้องเจอ และต้องยอมรับมันตามความเป็นจริง ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องความมีตัวเราและของเรา ถ้าเห็นได้ก็เห็นเถอะค่ะ เพราะนี่แหละที่เป็นตัวสร้างทุกข์โดยที่บางทียังไม่ได้สูญเสียคนที่เรารักเลย เพียงแค่คนที่เรารักไม่ทำตามที่เราอยากให้ทำ ก็ทุกข์แล้ว เชอรี่ปฏิบัติธรรมมา 10 กว่าปี ยังเห็นมันบ้าง ไม่เห็นมันบ้างเลยค่ะ ต้องอาศัยการฝึกฝน ทำไปเรื่อยๆ ค่ะ

ให้ชีวิตคู่เป็นเรื่องของธรรมชาติ

ตอนนี้ถ้าถามเชอรี่เรื่องชีวิตคู่ ก็ยังคงตอบว่าให้เป็นไปตามธรรมชาติค่ะ กับคนที่เคยคบกันก็เป็นเหมือนพี่ที่ดี เป็นเหมือนครอบครัว เพราะเราคบกันมานาน 12 ปี ถึงแม้จะเลิกกันมาได้ 3 ปีแล้ว ก็ยังมีความห่วงใยให้กัน เพราะเราไม่ได้เลิกด้วยความรู้สึกที่โกรธกัน เราแค่รู้สึกว่าพอตรงนี้ดีกว่า เพราะตรงนี้เรายังอยู่ในระดับที่ยังมีความปรารถนาดีให้แก่กัน แล้วถึงแม้เราจะไปกันต่อในรูปแบบที่เป็นคู่รักกันไม่ได้ แต่ก็ยังทำให้เรามีความปรารถนาดีต่อกันได้ ในอนาคตถ้าวันหนึ่งจะมีก็ไม่ได้ติดหรือวันหนึ่งถ้าไม่ได้มีก็ไม่ติดเหมือนกัน ไม่อยากฝืนอะไร แค่รู้สึกว่าถ้ามีก็ควรที่จะสนับสนุนกัน อย่างตัวเชอรี่เองเวลาจะทำอะไรจะใช้ใจทำในทุกๆ อย่าง เพราะฉะนั้นใจของเชอรี่มันเป็นเรื่องสำคัญ อะไรที่จะมาลดทอนพลังงานของใจเราถ้าเลี่ยงได้ก็น่าจะดีกว่า ถ้าวันหนึ่งจะส่งเสริมให้ใจเรามีพลังงานที่ดี ไปทำสิ่งที่ดี เชอรี่ก็ไม่ติดอะไรค่ะ

ความสุขง่ายๆ ของเชอรี่

ทุกเช้าพอรู้สึกตัว ก่อนจะลืมตาเชอรี่จะอยู่กับลมหายใจแล้วขอบคุณตัวเอง ขอบคุณทุกอย่างที่เป็น ที่มี การที่มีความรัก ความปรารถนาดีให้กับคนใกล้ตัวจะสร้างพลังงานที่ดีและความสุขให้กับตัวเองได้ง่ายมากๆ เชอรี่จะนั่งสมาธิ 1 ชั่วโมงแล้วค่อยลุกไปทำอย่างอื่น ช่วงเวลาในการนั่งสมาธิทำให้เราได้กลับมาอยู่ในปัจจุบันขณะนิดหนึ่งก่อน เพราะต้องบอกว่าการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เราส่งความคิดออกไปข้างนอกตลอดเวลา ทำเรื่องนี้หรือยัง ดูแลเรื่องนั้นหรือยัง ต้องทำ ต้องรับผิดชอบ พอส่งออกไปตลอด สำหรับเชอรี่เราจะรู้สึกเหนื่อย ระหว่างวันก็จะพยายามดึงตัวเองกลับมาให้รู้สึกตัวอยู่เรื่อยๆ การได้กลับมาอยู่กับตัวเอง อยู่กับลมหายใจ รู้สึกว่าช่วยทำให้เรามีโฟกัสและสงบ และก่อนนอนก็จะนั่งสมาธิอีก 1 ชั่วโมง

ความสุขของเชอรี่เป็นอะไรที่เรียบง่าย และเกิดขึ้นได้ง่ายๆ บางทีนั่งอยู่เฉยๆ ก็มีความสุข บางทีได้อยู่กับคนใกล้ชิดก็มีความสุข หรือบางทีได้ทำสิ่งนี้ เพื่อช่วยคนนี้ก็มีความสุข เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบมาก ที่ผ่านมาเชอรี่ก็เป็นแบบนี้มาตลอด สมัยก่อนครอบครัวจะเป็นหลักเลยที่ทำให้เรามีความสุข แต่ตอนนี้ตัวเราเหมือนเป็นเครื่องสร้างความสุขได้ด้วยตัวเอง บางทีอยู่คนเดียวก็มีความสุขได้โดยไม่ต้องทำอะไร และความสุขไม่ได้เป็นความรู้สึกที่ใจพองฟู แต่กลับเป็นความรู้สึกที่เบาและสบายใจค่ะ

นางแบบ: เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ

สัมภาษณ์: กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

ช่างภาพ: อิทธิพล พนาสุภน, กาซาลอง คำจริง

สถานที่: โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ โทร. 0 2210 8100

ติดตามเรื่องราวของ “Someonestoryco” เพิ่มเติมได้ที่

Web : http://someonestory.co

Facebook : https://www.facebook.com/SomeoneStory.co/

Instagram : https://www.instagram.com/someonestory.co/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCnm6Li8Brk1QCyb9lBHrMEA

Twitter : https://twitter.com/someonestoryco

About the author

+ posts
0%