ความสุขบนสายรุ้งแห่งความฝันที่สร้างขึ้นด้วยตัวเองของ ยูน ปัณพัท

ลายเส้นและสีสันที่แฝงไว้ด้วยกลิ่นอายแบบออเรียลทัล ที่มักจะเล่าเรื่องราวของสิงห์สาราสัตว์และสิ่งมีชีวิตผสมปนความแฟนซี คือลายเซนต์ที่มีตัวตนชัดเจนของยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล ศิลปินนักวาดภาพสุดฮอต ที่เคยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Gucci, Instagram, Sulwhasoo, Nescafe, Cotto ฯลฯ ซึ่งกว่าจะมาเป็นยูนที่เราต่างรู้จักกันในวันนี้ เธอผ่านการใช้ชีวิตและการทำงานด้านศิลปะที่ตัวเองรักมาจนตกผลึกกลายเป็นเส้นทางชีวิตที่เธอพร้อมจะกำหนดเองอย่างมีแบบแผน หลายคนอาจมองว่าฝีมือนี่แหละที่ทำให้เธอกลายเป็นศิลปินวาดภาพคนหนึ่งที่น่าจับตามอง แต่ความจริงแล้วยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การวางแผน เป้าหมาย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ยึดโยงกันและผลักดันให้ยูนไม่อยู่นิ่งและพร้อมจะไปต่อให้ไกลที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้

ที่มาของสีสัน เส้นสาย และสไตล์การทำงานแบบ ยูน ปัณพัท

ถ้ากลับไปดูสเก็ตช์แบบแฟชั่นสมัยเรียน จะเห็นว่ายูนชอบอะไรที่มีดีเทลเยอะๆ ชอบงานปัก งานคราฟต์ สีสัน ตัวลายเส้นของยูนถ้าเกิดมองลงไปมันจะมีเส้นสโตรกที่เหมือนงานปักอยู่แล้ว ส่วนที่คนชอบถามว่าระบายสียังไง มีวิธีการดูคู่สียังไง ความจริงไม่ได้ดูค่ะ ทุกอย่างเป็นสัญชาตญาณ เหมือนเราทำงานไปสักพักจะรู้ว่าอยากจะใช้สีโทนไหน ส่วนในการออกแบบแต่ละอย่าง แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นสิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าเราออกแบบไปเพื่ออะไร ความจริงก็เกิดกับทุกอย่างที่ทำงานล่ะค่ะ ต้องมีจุดหมายว่าสิ่งนี้มันเกิดมาเพื่ออะไร เพราะไม่อย่างนั้นเราจะออกแบบไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่คำนึงถึงจุดการใช้จริง เช่น การออกแบบสเตชั่นเนอรี่ ก่อนจะออกแบบยูนกับทีมลงไปศึกษาเทรนด์ของน้องๆ สมัยนี้ที่ทุกคนจะชอบทำแบบ journal กัน ในการเอาสติ๊กเกอร์มาแปะ ใช้ masking tape วัฒนธรรมการตกแต่งโต๊ะทำงาน อารมณ์เหมือนสมัยเด็กๆ ที่เราสะสมซานริโอ้ และมีสมุดสะสมสติ๊กเกอร์ ยูนรู้สึกว่าถ้าออกแบบอะไรให้กลายเป็นเรื่องของชีวิตได้จะทำให้ทุกคนรวมถึงตัวคนออกแบบเองด้วยรู้สึกอินไปกับสิ่งนั้น และไปต่อได้ ไม่ใช่ออกแบบหนึ่งคอลเล็กชั่นแล้วทิ้งซิกเนเจอร์หรือตัวตนเราไป หรือเป็นการออกแบบเพื่อการขายเท่านั้น สำหรับคนที่เสพงานของยูนสิ่งที่เราต้องการคือครีเอตความสุนทรีย์ในการใช้ชีวิตค่ะ

การร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก

อย่างที่ทุกคนรู้กันก็มี Gucci  Nescafe Instagram ฯลฯ ปีที่แล้วมี Sulwhasoo ปีนี้ก็จะมีอีก ความจริงงานขยายไปจนถึงทำอินทีเรียร์ดีไซน์แล้วตอนนี้ ล่าสุดใกล้จะลอนช์แล้วที่เฉิงตู เป็นร้านเครื่องประดับที่จีน เราทำงานทางออนไลน์ เป็นการออกแบบ ทำอินทีเรียร์ทั้งร้าน ทำเครื่องประดับ ยูนรู้สึกว่าเราสามารถนำความสวยงามของเราไปประยุกต์ได้หลายๆ ที่ หลายๆ งาน เพราะฉะนั้นแบรนด์ที่ทำงานร่วมกันจึงหลากหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เดียว

ชิ้นงานที่ออกแบบต้องมีคุณค่าทางใจและเก็บไว้ได้นาน

ยูนเป็นคนชอบเครื่องประดับ ชอบเก็บของ ชอบสะสม เพราะฉะนั้นของแต่ละอย่างที่ยูนทำ หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่ทำ จะคิดถึงสิ่งที่อยู่ต่อไปได้นานๆ แม้ว่ามันจะหมดสิบปีนี้ไปแล้ว ถึงยุคที่คนที่ใส่กลายเป็นคุณแม่ มีลูกสาว วันหนึ่งลูกสาวโตขึ้นมาหรือลูกชายโตขึ้นมา ก็สามารถยกสิ่งนี้ส่งต่อไปให้คนอีกรุ่นหนึ่งได้ เวลาเราเห็นเสื้อผ้าของแม่เราที่สมัยก่อนเขาสั่งตัดหมดมันจะมีดีเทลอะไรบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่เคยเห็น เช่น เสื้อตีเกล็ดเต็มไปหมดเลย เห็นแล้วเรายังรู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ทำให้รู้สึกว่าทุกสิ่งที่เราทำ เราอยากให้มันตอบโจทย์ในส่วนนั้น ไม่ได้อยากเป็นเสื้อผ้าที่ใส่เสร็จก็ทิ้งไป หรือแม้แต่สเตชั่นเนอรี่ ก็ให้มันเป็นจุดมุ่งหมายในวัยของเขาในช่วงนั้น เหมือนเรากลับไปมองกระดาษซานริโอ้ที่สะสมไว้ในวัยเด็กซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่ามีคุณค่า เรายังจำช่วงเวลานั้นได้อยู่ ไม่ได้รู้สึกว่าเราจะโยนสิ่งนี้ทิ้งไปแล้วปล่อยมันหายไป และยังเป็นความชื่นใจในชีวิตประจำวันว่าเราเห็นอะไรที่สวยงาม ยูนรู้สึกว่าศิลปะมันไม่ต้องเสพเมื่อเราต้องเข้าแกลเลอรี่หรือต้องซื้อสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาล บางอย่างเราสามารถเก็บของเล็กๆ น้อยๆ  หรือแม้แต่ใช้ชีวิตให้มันรู้สึกสบายใจก็เป็นศิลปะแล้ว

กระบวนการคิดแบบ ยูน ปัณพัท

ถ้าพูดแบบไม่โรแมนติกเลย การทำงานของยูนก็เหมือนการทำงานของทุกคน ต้องมีการวางแผน เราไม่สามารถทำงานด้วยการไม่วางแผนได้ แต่ตอนเรียนจบมา ไม่ได้มีใครบอกว่าเราต้องวางแผนชีวิตยังไง จะต้องจัดการกับความฝันอย่างไรบ้าง แล้วสมัยก่อนไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องพวกนี้ ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โชคดีได้ทำงานที่ชอบคือเป็นดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้า แต่ตอนแรกเราก็ทำไปโดยที่ไม่มีจุดหมาย แค่คิดว่าเราออกแบบชุดให้สวยก็จบ จนวันหนึ่งมันมีโอกาสทำให้เราเหมือนกับต้องขึ้นมาเป็นทีมแกนนำนิดนึง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่พิสูจน์ตัวเองก่อนที่จะเป็นครีเอทีฟไดเรคเตอร์เลยต้องจัดการความคิดตัวเองทั้งหมดใหม่ กลับมาเรียนรู้ตัวเองว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร นี่เป็นเรื่องที่สำคัญค่ะ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปตอนที่ไม่ได้วางแผนเป้าหมายในชีวิต ยูนก็ไม่ได้คิดว่าเราจะมาได้ไกลถึงขั้นนี้ ตอนนั้นแค่คิดว่าอยากมีร้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง มีโลกของเรา แล้วก็จบ ไม่ได้คิดว่าจะได้ร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ แต่วันที่รู้จักวางแผนชีวิตตัวเอง วันนั้นเราก็มีเป้าหมายที่อยากร่วมงานกับใครหรืออยากจะทำอะไร แต่สมัยก่อนอาจไม่ได้วางแผนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นการวางแผนโดยไม่เผื่อใจ ต่อมาได้เรียนรู้ว่าเมื่อวางแผนแล้วเยังต้องเผื่อใจเหมือนกัน มีแผนหนึ่ง มีแผนสอง และแผนที่สามคือเผื่อใจ เพราะบางอย่างในชีวิตมันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มอยู่แล้ว บางอย่างต้องยอมรับว่ามันมีจุดที่เราจะต้องยอม แต่ยอมวันนี้ไม่ได้ยอมแพ้แล้วหายไป ชีวิตเรายังได้ทำงานต่อ เรายอมกับตรงนี้ก่อนแต่ครั้งหน้าก็ไปเติมจุดที่พร่องอยู่ค่ะ

โอกาสทำให้เรารู้จักตัวเอง

สมัยก่อนนอกจากทำงานประจำแล้ว แน่นอนว่าด้วยเงินเดือนไม่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันตลอดเวลา ตั้งแต่สมัยเรียนก็คือเริ่มทำงานแล้ว จนถึงช่วงทำงานจริงก็รับจ๊อบเพื่อให้มีเงินเสริมมาลงทุนทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เราก็จะรู้ว่าโอกาสนั้นเป็นสิ่งสำคัญและก็ต้องรักษามันไว้ มีอะไรเข้ามาให้เราทำ ถ้าเป็นสมัยนั้น ยูนจะลองทำดู ไม่เกี่ยงเรื่องว่ารายได้น้อยอะไร รายได้น้อยไม่น่ากลัวถ้าได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ยูนจะลองทำดูแล้วเราจะรู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบแล้วมันเข้ามาอีกจะทำอย่างไรหรือมีมุมไหนไหมที่เราจะปรับให้รู้สึกดีกับอันนี้เพิ่มมากขึ้น หรือบางทีถ้าไม่ดี แล้วเราลดคุณค่าของตัวเองลง จะไม่ทำ พอมีถึงจุดหนึ่ง จะรู้สึกว่าคุณค่าในการทำงานของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะทำให้รู้ว่าเราใช้ชีวิตต่อยังไง

ความรัก หน้าที่ และความรับผิดชอบ

ยูนสนิทกับพ่อกับแม่มากเหมือนจะเป็นเพื่อนกัน แล้วก็ไม่ได้มีครอบครัวอื่น เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงเป็นจุดมุ่งหมายในชีวิต ตอนนั้นที่ชีวิตยังไม่มีการวางแผน แต่มีวันหนึ่งที่ยูนตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าเรายังอยู่ที่เดิม อยู่มาแล้วหลายปี เรามองไม่เห็นอนาคต ถ้าใช้ชีวิตต่อไปแบบนี้ แล้ววันที่พ่อแม่อายุมากขึ้นจะดูแลเขาอย่างไร  ยูนเป็นลูกคนเดียวก็อยากจะดูแลทุกคนให้ได้ ถึงมีลูกพี่ลูกน้องก็ไม่อยากให้ครอบครัวเราไปเป็นภาระของครอบครัวคนอื่น แต่ในการดูแลผู้ใหญ่ ไม่ใช่แค่ว่าเราวางแผนให้เขามีสุขภาพดีเท่านั้น เพราะพอศึกษาลึกลงไป เราต้องซื้อประกันไว้ให้ ต้องศึกษาเรื่องสวัสดิการต่างๆ มันคือการเรียนรู้อีกขั้นหนึ่ง เหมือนกับตอนที่พ่อแม่หนุ่มสาวเขาก็ต้องเรียนรู้ว่าต้องเลี้ยงลูกอย่างเราอย่างไรให้โตขึ้นมาให้โอเคที่สุด มีชีวิตที่ดี ก็อยากจะดูแลเขาแบบนั้นค่ะ

ตอนนั้นยังทำงานประจำ พอคิดว่าทำยังไงจะมีรายได้เพิ่ม สิ่งที่คิดได้ง่ายที่สุดคือไปขายของ เพราะที่บ้านทำเสื้อผ้าขายมาตลอด เราเปิดร้านขายส่งที่จตุจักร ถ้าใครผ่านไปโครงการ 18 ในวันนั้นจะเห็นยูนไปอยู่ที่นั่นทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แต่รู้สึก suffer มาก เพราะทำงานประจำเสร็จปุ๊บ กลางคืนต้องไปขายของต่อ หรือบางทีตอนเช้าต้องไปที่สำเพ็งเพื่อไปหาผ้ามาตัดชุด หรือไปประตูน้ำ เพราะต้องไปหาเสื้อผ้ามาเสริมขาย ที่ทำเพราะต้องมีรายได้ แต่มองไม่เห็นอนาคตว่าจะเติบโตกับสิ่งนี้ได้อย่างไรบ้าง มันคือการทำไปเรื่อยๆ แล้วไม่ได้ชอบสิ่งนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เพราะว่าไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไร นอกจากต้องขายของแล้วให้ได้เงินมา แต่สิ่งนั้นก็ให้ประโยชน์นะคะ เพราะทำให้รู้ว่าต้นทุนและกำไรคืออะไร

วันหนึ่งรุ่นพี่ที่สนิทกันให้หนังสือ “รถบัสพลังชีวิต” กับยูน เป็นหนังสือที่บอกว่าทุกพื้นที่ของเรามีพื้นที่จำกัด บนรถบัส 1 คัน บรรจุได้ 12 ที่ ถ้าคุณไม่ทิ้งอะไรสักอย่างไปหรือไม่ยอมให้คนหนึ่งคนที่คุณไม่ชอบลงจากรถเราไป ก็จะไม่มีที่นั่งสำหรับคนใหม่ขึ้นมา แนวคิดนี้ใช้ด้วยกันได้กับทุกอย่าง ทั้งเรื่องคน ความรัก เรื่องงาน บางอย่างก็ต้องทำใจปล่อยให้เขาไปเจอรถที่ใช่ของเขา แล้วเราก็จะเจอคนโดยสารที่ใช่สำหรับรถของเรา เพราะถ้าเป็นสมัยก่อนจะรู้สึกต้องรักษาทุกอย่าง กอบทุกอย่างไว้มาเป็นของเรา ทำให้รู้สึกเครียดไปหมด แต่จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ยูนกลับไปค้นหาตัวเองและตั้งใจทำในสิ่งที่เราเชื่อให้เป็นภาพขึ้นมาให้ได้ ยูนไปคุยกับแบรนด์ที่ทำงานอยู่ประจำว่า ขอโชว์ฝีมือได้ไหม ถ้ายอดขายดีขึ้น จะขอเงินเดือนเพิ่ม เพื่อที่จะได้สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ แล้วก็พิสูจน์ตัวเองว่าเราทำงานได้

ตอนนั้นเรากลับมามองถึงคุณค่าในงานที่ทำว่าเราจะให้อะไรแก่คนอื่นอย่างไร ตัวเราจะคืนอะไรให้กับแบรนด์ที่ทำอยู่ได้บ้าง ถึงแม้การทำเสื้อผ้าที่จตุจักรไม่ใช่จะสิ่งที่ตอบโจทย์ตัวเอง แต่สิ่งที่เรียนรู้คือต้องประหยัดผ้าแบบนี้นะ ถ้าเย็บแบบนี้จะใช้ไม่ได้ นำสิ่งนี้ไปใส่กับแบรนด์ที่ทำงานอยู่ เพื่อให้รู้ว่าประหยัดต้นทุนได้อย่างไร สิ่งไหนที่จะทำให้เกิดการบาลานซ์ต้นทุนกับงานศิลปะลงมาได้บ้าง

สายรุ้งแห่งความฝัน

วันหนึ่งยูนก็ลาออกมาทำบริษัทเอง ที่ทำเป็นรูปแบบนี้เพราะเคยอยู่บริษัทมาก่อน อยากทำให้ทุกอย่างถูกต้อง ชัดเจน ถ้าเราไม่เคยอยู่บริษัทมาก่อนจะไม่รู้เลยว่าต้องเสียภาษี ต้องจัดการเรื่องการเงิน วางทุกอย่างให้เป็นระบบ ในการทำงานศิลปะก็เหมือนการทำธุรกิจทุกอย่าง ต้องวางแผน ต้องมีตัวเงิน ต้องคุมค่าใช้จ่าย รู้เรื่องค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่ทำบริษัท ไม่มีเอกสาร แผนการที่เวางไว้อาจผิดพลาด เพราะไม่รู้จำนวนตัวเลข ถึงเราทำงานศิลปะ ไม่ชอบตัวเลข แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเหมือนกัน และการทำงานรูปแบบนี้สามารถต่อยอดได้ในระยะยาว เพราะยูนไม่ได้คิดว่าจะทำงานนี้แป๊บเดียว แล้วก็หายไป ยูนต้องการให้ยั่งยืนค่ะ

ส่วนชื่อสายรุ้งแห่งความฝันหรือ Rainbow of Dream เป็นชื่อที่คิดตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมาเราจะมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับคำว่า Rainbow มาตลอด ที่มาที่ไปของการเลือกใช้ชื่อนี้เกิดขึ้นตอนเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ตอนที่ suffer เรื่องงาน ยูนบังเอิญได้ยินเพลย์ลิสต์เพลงหนึ่งที่เคยฟังในยูทูบซึ่งบังเอิญ random ขึ้น มีท่อนหนึ่งในเพลงที่ร้องว่า If you want the rainbow  you have must the rain แล้วแม่ก็บอกว่าทุกอย่างมันไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก ทุกคนก็ต้องฝ่าฟันทั้งนั้นกว่าจะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ เลยเป็นแรงบันดาลใจทำตัวคาแร็กเตอร์ที่เป็นตัวกระต่ายชื่อ Rainbow Sue ขึ้นมา ซึ่งซูเป็นชื่อภาษาจีนของคุณแม่ค่ะ ยูนทำคาแร็กเตอร์นี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการให้กำลังใจ พอมาทำบริษัทเลยตั้งชื่อว่า Rainbow of Dream เพราะมองว่าสายรุ้งคือตัวแทนแห่งความฝัน ก่อนที่จะได้อะไรมา คุณก็ต้องสู้เหมือนกัน

อยากมีชีวิตแบบยูน ต้องลองวางแผน

ชีวิตก็เหมือนโปรเจ็กต์ๆ หนึ่ง ไม่สามารถใช้โดยไม่วางแผน อยากจะมีชีวิตการทำงานแบบไหน ลองวางแผนดู ถ้าเป็นสมัยก่อนจะมีบางคนบอกว่าลาออกมาทำตามความฝัน แต่จะมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ฮิตมากชื่อว่าการลาออกครั้งสุดท้าย ที่สุดท้ายเขาก็บอกว่า ถึงคุณลาออกมาแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าคุณลาออกจากการทำงานนะ คุณต้องวางแผนการใช้ชีวิตอยู่ดี เลยทำให้เรารู้ว่านี่คือสิ่งที่สำคัญ ลองวางแผนดูค่ะ วันนี้เราทำลองไปเรื่อยๆ แต่อย่าปิดกั้นเรื่องโอกาสของตัวเอง อย่ารู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอกับโอกาสที่เข้ามา ยูนเจอมาหลายคนมากที่เขารู้สึกตัวเองไม่ดีพอ รู้สึกว่าปล่อยมันไปก่อน แล้วพอฉันเก่งขึ้นแล้วจะกลับไปทำ โอกาสบางทีมันไม่ได้วิ่งกลับมาให้คุณทำอีกรอบหนึ่ง ให้ลองทำไปเลย ดีหรือไม่ดีก็จะได้รู้ ถ้าไม่ดี ครั้งหน้าจะได้รู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไรให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าวันนี้คุณรู้สึกยังดีไม่พอแล้วก็ทิ้งมันไป คุณก็จะไม่เริ่มทำสักทีหนึ่ง แล้วจะเป็นความฝันต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นฝันที่ไม่เป็นจริง ดังนั้นเวลาคนที่เข้ามาถามเรื่องนี้ ก็จะบอกว่าให้ลองทำดูค่ะ

อีกหนึ่งความฝันที่เป็นจริง

ทุกวันนี้รู้สึกว่ายูนดูแลพ่อแม่ได้เต็มที่กว่าสมัยก่อนมาก เขาไม่ต้องทำงาน กลับมาอยู่ที่บ้าน ดูแลบ้าน ทางเราก็หามิชชั่นต่างๆ ให้เขาทำทุกวัน ตอนเด็กๆ จะชอบคิดว่าพอเราโตแล้วจะไม่พึ่งพาพ่อแม่ เพราะกลัวเขาจะเหนื่อย แต่จริงๆ ท่านต้องการเราให้เราพึ่งพา ท่านยังอยากดูแลเราอยู่ เราเลยมีมิชชั่นให้เขาทำทุกวัน เช่น อยากจะกินอันโน้น อยากจะทำอันนี้ อยากไปที่นี่ ขับรถพาไปหน่อย สมัยก่อนอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเล่าถึงหนูไล้ที่อายุ 70 และพ่อแม่อายุ 120 แล้วว่า เวลาหนูไล้ไม่ถูกใจจะลงไปดิ้นกับพื้น เพราะต้องการให้พ่อแม่รู้สึกว่าเป็นเด็กตลอดเวลา นี่ก็เป็นมิชชั่นในใจเหมือนกัน ซึ่งสมัยนี้ดี เพราะว่าสามารถดูยูทูบเพื่อประกอบอาหารพิสดารที่เขาไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตได้ค่ะ (หัวเราะ)  หรือเรื่องการดูแลสุขภาพ ด้วยโครงสร้างทางสังคมของประเทศเราไม่ได้ดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเต็มที่ โดยหน้าที่ของเราที่เป็นลูกคนเดียวก็พยายามปิดจุดช่องโหว่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ

เซเลบริตี้: ปัณพัท เตชเมธากุล

สัมภาษณ์: กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

ช่างภาพ: อิทธิพล พนาสุภน

ติดตามเรื่องราวของ “SomeoneStoryco” เพิ่มเติมได้ที่

Web : http://someonestory.co

Facebook : https://www.facebook.com/SomeoneStory.co/

Instagram : https://www.instagram.com/someonestory.co/

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCnm6Li8Brk1QCyb9lBHrMEA

Twitter : https://twitter.com/someonestoryco

About the author

+ posts
0%