ปู-จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์ แค่ “กล้า” ก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

คุยกับผู้ชายที่ขยันทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

และอะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาก้าวข้ามความกลัวไปได้ !

เราเริ่มต้นบทสนทนากับคุณปู-จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์ ตัวพ่อแห่งวงการสตรีทแฟชั่นที่วัยรุ่นหลายยุคหลายสมัยยกให้เขาเป็นทั้งไอดอลด้านการแต่งตัวและความคิด ด้วยเรื่องอดีตที่ทำให้เรารู้จักจุดเริ่มต้นของนักคิดคนนี้มากยิ่งขึ้น หลายคนอาจจินตนาการไม่ออกว่า ผู้บริหารที่มีลูกน้องในความดูแลมากกว่า 30 ชีวิต เจ้าของบริษัทผลิตสื่อ และผู้คร่ำหวอดในวงการการจัดงานเฟสติวัลคนนี้ จะมีจุดเริ่มต้นแสนธรรมดาที่ดูห่างไกลจากความสำเร็จในวันนี้ของเขาเหลือเกิน



จากผู้ชายสายอาร์ตสู่ผู้บริหารสุดครีเอท

ถึงแม้ปู จิรัฏฐ์จะเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นเพียงกราฟิคดีไซเนอร์ แต่ ณ วันนี้ เขากลับกลายเป็นผู้บริหารที่สามารถจัดการกับระบบงานและการเงินได้เป็นอย่างดี “ผมว่าทักษะการบริหารอยู่ในตัวทุกคน เรียนสายไหนไม่เกี่ยว ต่อให้ไม่เคยเรียนหนังสือในชีวิตเลย แต่ก็จะมีทักษะในเรื่องการจัดการ เช่น เรื่องครอบครัว การดูแลลูก อาบน้ำ แต่งตัว พาลูกไปโรงเรียน วันนี้ต้องตื่นเช้า ต้องไปทำงาน ผมว่านั่นคือทักษะเดียวกันกับเรื่องการจัดการทุกอย่างบนโลกใบนี้ มันเป็นคอมมอนเซนส์ แค่ปรับให้เป็น ผมไม่ได้อยากเป็นนักบริหาร แต่วันหนึ่งถ้าเราต้องเป็นอย่างนั้น เราก็ต้องคิดว่า “เราทำได้” ถาม เรียนรู้ อ่านหนังสือ ดูโน่น ดูนี่ แล้วก็เริ่มจากนับหนึ่งไปเรื่อยๆ

เริ่มแรกผมไม่ได้มีพนักงาน 30 คนเลย ผมเริ่มจากมีน้อง 4 คน มันก็ไม่ยาก และกว่าจะมีน้อง 30 คนได้ มันก็มีการพัฒนาระบบการจัดการมาเรื่อยๆ ผมเกิดมาไม่ได้จับเงินล้านทีเดียว เราได้ผ่านการบริหารเงินหลักร้อย หลักพันมาก่อน ผมว่ามันเป็นหลักการเดียวกัน เพียงแต่ปริมาณเยอะขึ้น ความยุ่งยากมากขึ้น เมื่อก่อนผมเคยทำงานเดือนละ 5 ชิ้น หลังๆ ทำงานวันละ 5 ชิ้น แต่แค่เข้าใจ ไม่ลนลาน ก็พอจัดการได้”

แม้ว่าคุณปูจะพูดถึงงานบริหารด้วยอารมณ์สบายๆ แต่เราก็ยังสงสัยอยู่ดีว่าทำไมเด็กสายอาร์ตคนนี้จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการคำนวณ “คงเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่ผมเป็นคนชอบวิชาเลข ชอบเล่นหมากรุก หมากล้อม เลยทำให้เราปรับจูนสิ่งเหล่านี้กับการทำงานได้ เรื่องบางเรื่องถ้าหนีไม่ได้ก็ต้องยอมรับนะครับ เขาบอกว่ามนุษย์ เวลาเจอการเปลี่ยนแปลง บางคนอาจไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบเราต้องพยายามเปลี่ยนแปลงมันให้อยู่ในมุมที่เราชอบ แต่วันหนึ่งถ้าเราเรียนรู้ว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ก็ให้ยอมรับ ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในชีวิตไปตลอด แล้วชีวิตเราจะไม่มีความสุข ซึ่งผมยอมรับมันครับ ผมอยากเป็นเจ้าของบริษัท แล้วจะให้คนอื่นทำเรื่องเงินให้กับเราเหรอ ถ้าวันหนึ่งไม่ดีขึ้นมา เราจะโทษใคร เลยคิดว่าทำเอง เจ๊งเองดีกว่า เรียนรู้กับสิ่งนี้ แล้วถ้าทำเอง จะตัดสินทุกอย่างง่าย”


จากความรักในแฟชั่น สู่ความฝันและความสำเร็จในวงการนิตยสาร

อย่างที่บอกไปแล้วว่าจุดเริ่มต้นของคุณปูในวงการนิตยสารมาจากการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ให้กับนิตยสารวัยรุ่นเล่มหนึ่งเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว กระทั่งฉายแววว่าน่าจะไปได้สวยในฐานะบรรณาธิการ ชีวิตจึงค่อยเปลี่ยนผ่านไปสู่ตำแหน่งที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่เคยคาดฝัน แม้งานบ.ก. อาจไม่ใช่แนวถนัดเสียทีเดียว แต่เนื่องจากรูปแบบนิตยสารที่เขาทำคือสิ่งที่เขาหลงรักมาตลอด นั่นคือ “แฟชั่น” จากการสั่งสมประสบการณ์ในวงการนิตยสารมาอย่างยาวนาน วันหนึ่ง Cheeze และ Looker จึงถือกำเนิดขึ้นบนแผงหนังสือ และกลายเป็นนิตยสารแฟชั่นที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครที่มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีชื่อปู-จิรัฏฐ์คนนี้แหละเป็นผู้ก่อตั้ง

“เรื่องแฟชั่น การแต่งตัว มันคือความสุนทรีย์เบื้องต้นของชีวิต ผมชอบแต่งตัว สนุกในการหากางเกง หาเสื้อ เสร็จแล้วก็ดูกระจก แล้วค่อยออกจากบ้าน เป็นความบันเทิงแรกของผมหลังจากตื่นขึ้นมา สำหรับผม การลุกขึ้นมาแต่งตัว เป็นพลังชีวิต ไม่ใช่เรื่องไร้สาระและไม่ใช่แค่เรื่องภายนอก ผมเถียงมาตลอด เพราะรู้สึกว่าการแต่งตัวคือภายใน เราเป็นคนแบบไหน ก็นำสิ่งนั้นออกมาข้างนอก เป็นคนชอบการ์ตูน ชอบเพลงร็อก ชอบอะไรหวานๆ ก็นำสิ่งนั้นมาอยู่กับเสื้อผ้าเรา

ผมเชื่อว่าการแต่งตัวสำคัญ แล้วการที่อยู่ในสังคมที่คนลุกขึ้นมาแต่งตัวก็มีความหมายบางอย่าง เช่น ทำให้เราเดาสถานการณ์ของละแวกนั้นได้ว่าเป็นแบบไหน นอกจากนี้ผมยังชอบช้อปปิ้ง เพราะเสื้อผ้าก็เป็น 1 ในปัจจัยสี่แต่ผมจะคิดเหนือปัจจัยสี่ ออกมาหน่อยว่า ไม่ใช่แค่ใส่นะ ต้องดูดีด้วย เป็นแพคเกจจิ้งของมนุษย์ที่มองแล้วรู้สึกสบายหู สบายตา ผมชอบทำหนังสือ ชอบแต่งตัว เลยมาสายแฟชั่น รู้สึกว่าจรรโลงใจดีครับ”


จากเที่ยวชมตลาดกลายมาเป็นผู้จัดงานเฟสติวัล

นอกจากงานนิตยสารแล้ว ผู้ชายคนนี้ยังขยันหยิบจับสิ่งรอบตัวที่ตัวเองรักนำมาผสมผสานกันจนกลายเป็นงานชิ้นใหม่ๆ อยู่เสมอ “ตั้งแต่ทำแมกกาซีน ผมเป็นคนชอบนำสิ่งที่ผมชอบมาทำงาน เพราะเราจะคิดได้ง่ายว่า ถ้าเป็นเรา เราจะทำแบบนี้ ถ้าเป็นเรา งานแบบนี้เราจะอยากไป ถ้าเป็นเรา มีหนังสือแบบนี้เราจะซื้ออ่าน อย่างงานเฟสติวัลก็มาจากการที่ผมชอบเดินตลาด โดยที่ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าอยากให้เราไปเดิน ตลาดต้องมีอะไร และมองว่าเราไม่ใช่คนเดียวหรอกที่ชอบแบบนี้ พิสูจน์มาแล้วว่าคนอย่างเรามีเยอะ

ผมเป็นคนที่เดินตลาดได้ทุกตลาด ตลาดนัดของกินก็ชอบ ตลาดนัดที่เป็นเพิงก็ชอบ จตุจักรก็ชอบ ห้างสรรพสินค้าผมก็ชอบ ตลาดเป็นที่รวมตัวของคน และแต่ละที่จะมีคนแต่ละประเภทที่ไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือนกันผมก็ได้เรียนรู้ ผมชอบนั่งมองคนเดินผ่านไป ผ่านมา รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ ได้เห็นคนแต่งตัวชุดต่างๆ อย่างเมื่อก่อนผมเรียนที่จุฬาฯ ตรงสยาม ผมจะชอบเดินดูคน แล้วเราก็เรียนรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องเดินซื้อของในตลาดก็ได้นะ เพราะเราอาจไปซื้อน้ำหนึ่งแก้ว เดินดูคน ผ่อนคลาย คุยกับเพื่อน ทุกวันนี้ตลาดเปลี่ยนไป ไม่ได้มีแค่พ่อค้า แม่ค้า กับของแล้ว ตลาดมีสิ่งยั่วยุเยอะแยะ มีดนตรี มีที่เดินเล่น เดินดูต้นไม้ ไปดูคน ไปดูการละเล่น กลายเป็นคอมมิวนิตี้หนึ่งไปแล้ว”


จากคนเขียนหนังสือไม่เป็นสู่นักเขียน นักคิดที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน

จุดเริ่มต้นงานเขียนของบ.ก. สุดฮิปคนนี้ ไม่ได้มาจากการหลงรักและอยากเป็นนักเขียน แต่มาจากการที่เขามีความสนใจ ให้ความสำคัญ อยากทดลอง อยากท้าทายความสามารถของตัวเอง จึงทำให้ ณ วันนี้ เราได้อ่านหนังสือที่มีชื่อ ปู จิรัฏฐ์ เป็นนักเขียนมาแล้วมากกว่า 10 เล่ม “ผมเขียนพ็อกเก็ตบุ๊กมา 11 เล่มแล้วครับ (มะนุด, มะนุด#2, ซู่โว๊ย!, ถ้าเป็นคนเข้าใจโลกง่ายก็จะเจ็บยาก ฯลฯ) แล้วจะมีของสปริงค์บุ๊ค 2 เล่ม แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือมาจากการเป็น บ.ก. นี่แหละ สมัยก่อนผมไม่ยอมเขียนบทบ.ก. เลย เพราะเขียนหนังสือไม่เป็น จนวันหนึ่งก็ลองดูบทบ.ก.ของบ.ก. คนอื่นๆ ว่าเขาเขียนกันยังไง บ.ก.หลายคนอาจเขียนว่าสวัสดี ช่วงนี้หน้าฝนนะ ดูแลตัวเอง เอาใครมาขึ้นปก ข้างในมีคอลัมน์อะไรบ้าง ซึ่งผมไม่อยากเขียนแบบนั้น เลยทดลองเขียนอะไรก็ได้ ที่เป็นเรื่องของแนวคิด หรือสิ่งที่ผมคิดขึ้นมา เขียนไปโดยหวังให้คนเปิดผ่าน

ตอนนั้นผมคิดว่าใครจะมาอ่านอะไรตรงนี้ เขาสามารถเปิดเข้าไปดูเนื้อข้างในได้เลยนี่ คนน่าจะรีบเข้าไปดูคอลัมน์ช้อปปิ้ง แฟชั่น ไปดูอย่างอื่นมากกว่า ไม่ได้สนใจบทบ.ก. หรอก แต่เรามารู้ตอนหลังว่าคนบางคนเขาอ่านนะ ซึ่งพอรู้อย่างนี้เลยเริ่มได้ใจ ไปค้นไดอารีเก่าๆ เพราะผมเป็นคนชอบเขียนไดอารี แล้วนำมาดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัย เขียนลงไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่ามีความมั่นใจระดับหนึ่ง และพอมีโลกของโซเชียลเข้ามา ก็เริ่มดัดแปลงสิ่งที่เราเขียนยาวๆ มาเขียนสั้นๆ เพราะคนไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ พอฟีดแบ็กโอเคขึ้นมาก็เลยเริ่มเกิดเป็นความมั่นใจว่าเรามีอะไรทำแล้ว จากนั้นก็เขียนมาเรื่อยๆ ครับ”


จากความกลัวที่สุด สู่ความกล้าที่สุ

ยิ่งคุยกันมาเรื่อยๆ ยิ่งเห็นว่านอกจากคุณปู จิรัฏฐ์จะทำอะไรหลายอย่าง งานแต่ละอย่างที่เขาทำก็ดูไม่ง่ายเอาซะเลย แล้วอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานแต่ละอย่างของเขาล่ะ? “ถ้าถามผม ความยากคือความกลัว ทุกเรื่องเลยนะครับ ถ้าเราไม่กลัว จะไปได้ง่ายมาก ถ้าเราไม่กลัว เราก็กล้าที่จะย้ายงาน กล้าที่จะลงทุนทำโน่นทำนี่ กล้าที่จะทำไปเรื่อยๆ กล้าที่จะขาดทุน กล้าที่จะล้มเหลว การที่คนเรากลัว เราจะไม่กล้าไปไหน ไม่กล้าทำอะไรเลย ผมเลยจัดการเรื่องความกลัวของตัวเองก่อน คุยกับตัวเองว่า เรามาได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่มีอะไรจะเสียแล้วนะ ต่อให้วันนี้ไม่มีอะไร ก็ไม่มีอะไรจะเสียแล้วนะ ผมเป็นคนต่างจังหวัดครับ อู้หู ได้มาอยู่กรุงเทพฯ ก็บุญแล้วนะ ได้เรียนมหาวิทยาลัยก็บุญแล้วนะ ได้มีเงินเดือนก็บุญแล้วนะ ตอนเรียนจบใหม่ๆ ฐานเงินเดือนอยู่ประมาณ 7,000 บาท ตอนนั้นคิดว่าถ้าเรามีเงินเดือน 10,000 บาทนี่รวยเละ แล้วพอมามองตัวเองทุกวันนี้ เรามาไกลกว่า 10,000 บาทเยอะมาก แล้วยังต้องกลัวอะไร

ผมบอกตัวเองว่าอย่ากลัว เพราะถ้ากลัวจะทำให้สิ่งที่ยากอยู่แล้ว ยากมากขึ้น จะทำให้สิ่งที่ใหญ่อยู่แล้ว ใหญ่มากขึ้นไปอีก พอกลัวปุ๊บ สติจะหาย ปัญญาก็หลุดไปด้วย ผมมองว่าสติปัญญาเราก็ไม่ได้เยอะอยู่แล้ว ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ไม่สามารถนำปัญญามาใช้ได้ ผมเลยต้องอยู่กับความกลัวให้ได้ หรือกำจัดมันให้ได้ ต้องข่มมันให้เป็น อย่างผมมาอยู่กรุงเทพฯ คนเดียว มาเรียนหนังสือ มาอยู่กับญาติก่อนแล้วค่อยย้ายตัวเองออกมา ผมทำงานตั้งแต่เด็ก ขายของที่สวนจตุจักรตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย การดูแลตัวเองทำให้เราไม่ค่อยกลัวอะไร แล้วเวลามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เราจัดการมันได้ ความมั่นใจมันอยู่ตรงนั้นว่า “กลัวทำไมวะ”

บางทีปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอ แต่เราก็บอกตัวเองว่า เดี๋ยวเราก็จะจัดการมันได้อย่างที่เราเคยจัดการนั่นแหละ ครั้งที่ 1 ยังไม่ได้ ก็มีครั้งที่ 2 ที่ 3 ผมชอบไปหาประวัติบุคคลที่เขาประสบความสำเร็จมาอ่าน แล้วชอบไปอ่านบรรทัดที่เขาล้มเหลว มันสนุกตรงนั้น ว่าโอ้โห กว่าลุงคนนี้จะมีเงินพันล้านได้ ไม่ได้ง่าย ทุกคนที่เล่า ไม่มีใครง่าย ชีวิตของแต่ละคนนี่ยิ่งกว่าเราอีก แต่ว่าเขาทำได้ เหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่า การทำไม่ได้ ล้มเหลว ไม่ได้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ แล้วจะกลัวไปทำไม ยิ่งกลัว วันรุ่งขึ้น ยิ่งไม่มีแรง วันนี้ยังไม่กล้า แต่โลกมันหมุนไปเรื่อยๆ ใช่ไหม ถ้าลังเล เราจะแก่ลงไปเรื่อยๆ ผมจะเริ่มหงอก ฟันจะเริ่มโยก หน้าจะเหี่ยว พลังจะลด

ผมคิดว่าให้ตัวเองล้มเหลวในวัย 30 40 50 ดีกว่าล้มเหลวในวัย 70 ผมจะไม่มีแรงมากู้คืน เพราะผมอาจตายตอน 72-73 ซึ่งถ้าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับผมตอนนี้ ไม่เป็นไร ยังพอแก้ตัวกับมันได้ คือถ้าเจ๊งขึ้นมา อีก 20 ปีกว่าจะปลดหนี้ได้ ก็โอเค แต่ถ้าไปเจ๊งตอน 70 คนข้างตัวอาจเดือดร้อน ผมเลยไม่ค่อยกลัว บังเอิญเราโชคดีที่มีคนในครอบครัว คนรอบข้างที่สนับสนุนเวลาเราทำอะไร รู้สึกว่าการมีคนตบหลังเรา ให้กำลังใจเรา มันเพียงพอแล้ว”

จากความสำเร็จ สู่การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก และ Covid-19

วิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์คือวิกฤตที่ทำให้คนที่งานด้านแมกกาซีนหลายคนได้รับผลกระทบอย่างแรง หลายที่ปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์และพิมพ์แมกกาซีนไปพร้อมๆ กัน แต่หลายที่ก็เลือกที่จะปิดตัวลง ยิ่งประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน ชีวิตคนทำสื่อยิ่งดูจะยากเย็นยิ่งขึ้น

“ผมรู้สึกว่าเรื่องโควิด-19 เป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าเรื่องอื่นอีก และทุกคนโดนเหมือนกัน ธุรกิจที่ผมทำ เนื่องจากเป็นเรื่องของมีเดีย และอีเวนต์ ซึ่งอย่างหลังนั้นตายสนิท มีเดียเองก็ไม่มีโฆษณาลง เพราะไม่มีเงินทั้งคนซื้อและคนขาย นี่เป็นวิกฤตที่หนักที่สุดในชีวิตที่เคยเจอมา แต่ยังไงเสีย โรคระบาดก็จะมีการรักษา ส่วนรักษาได้ช้า เร็ว ว่ากันอีกที เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือประคอง อย่าเพิ่งตาย ผมสมมติว่าธุรกิจเราติดเชื้อโควิด-19 และยังไม่ได้วัคซีน เราก็ต้องประคองตัวเองไว้อย่าเพิ่งตาย

คำแนะนำที่ผมอยากบอกคนอื่นๆ คือ เราต้องปรับตัวครับ เมื่อโลกไม่เหมือนเดิม หมายความว่าเราจะทำอะไรเดิมๆ ไม่ได้ บางส่วนอาจใช้ได้ แต่บางส่วนอาจใช้ไม่ได้กับโลกใบใหม่ สิ่งที่สำคัญสุดคือ ต้องวิเคราะห์สิ่งใหม่ที่เรากำลังเผชิญ สมมติเราเคยทำงานแบบนี้ แต่ต่อไปงานเราจะไม่เหมือนเดิมแล้วนะ แล้วจะเป็นอย่างไร เราต้องรู้อะไรที่เรายังไม่รู้ ยังต้องมีอะไรที่ยังไม่มีเพื่อจะอยู่ในโลกยุคใหม่ได้ ถ้ายังขาดก็ไปหาเสริม เช่น ต้องรู้เรื่องแอปพลิเคชั่น การทำออนไลน์ รู้เรื่องพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ รู้ว่าปีหน้าฝั่งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เป็นอย่างไร การที่เรารู้อะไรแบบนี้มันจะไม่ทำให้เราหวังอะไรลมๆ แล้งๆ เช่น เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวมีวัคซีนก็ดีขึ้น เดี๋ยวทุกอย่างก็กลับมา ถ้าเราคิดแบบนี้มันจะอันตราย อย่าไปหวังอะไรโดยที่เราไม่รู้ข้อมูลว่ามันเป็นไปได้ไหม”

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในการสนทนาอย่างออกรสออกชาติของเราในครั้งนี้ หลังจากการพูดคุยจบลง ทีมงานของเราหลายคนเพ้ออยากเป็นลูกน้องของผู้ชายคนนี้ เพ้ออยากได้นั่งคุยกับเขาบ่อยๆ เพ้ออยากขอเคล็ดลับการใช้ชีวิตในยามที่เจอทางตัน บางคนถึงขั้นเพ้ออยากเป็นติ่งของผู้ชายที่ชื่อ “ปู-จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์” คนนี้เลยทีเดียว แล้วคุณล่ะคิดเหมือนพวกเรามั้ย?

ติดตามเรื่องราวของ The Story ได้ที่

Web : www.someonestory.co
Facebook : www.facebook.com/SomeoneStory.co/
Instagram : www.instagram.com/someonestory.co/
Youtube : www.youtube.com/channel/UCnm6Li8Brk1QCyb9lBHrMEA
Twitter : www.twitter.com/someonestoryco



About the author

+ posts

0%